อย เตือน พอตเค เสพถึงตายขายติดคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 36 View
- อ่านต่อ
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ แนะนำบทบาท
ของผู้ปกครองยุคใหม่ควรเปลี่ยนจากผู้สั่งสอน ห้ามไม่ให้ทำ มาเป็นเพื่อนที่เข้าใจ ยอมรับฟัง ชี้ชวนให้คิด พร้อมให้โอกาส
เมื่อลูกหลงผิดไปใช้ยาเสพติด
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในสังคมปัจจุบัน พ่อ แม่ ผู้ปกครองใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานนอกบ้าน อาจเป็นสาเหตุให้ขาดการเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานเท่าที่ควร ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ก่อให้เกิดผลทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้นพ่อ แม่ ผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน จึงต้องเข้าใจบุตรหลานที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น อยากเรียนรู้ อยากลอง ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งอาจเกิดการเรียนรู้ หรือแสดงพฤติกรรมในทางที่ผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการใช้ยาและสารเสพติด การที่พ่อแม่ปรับตัวให้เป็นเหมือนเพื่อนกับบุตรหลาน ทำความเข้าใจ ใช้เวลาพูดคุย และยอมรับฟังอย่างตั้งใจ ด้วยความรัก ความเมตตา พิจารณาพฤติกรรมของบุตรหลานอย่างมีเหตุผล โดยไม่รีบว่ากล่าวตำหนิหรือติเตียน จะก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ทำให้บุตรหลานกล้าปรึกษาปัญหา หรือแสดงความคิดเห็นอย่างไม่ปิดบัง ช่วยให้พ่อแม่ได้รับรู้ปัญหา สามารถหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และยังเป็นการป้องกันการหลงผิดไปใช้ยาเสพติดได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นบทบาทของผู้ปกครองในปัจจุบันต้องเปลี่ยนจากผู้สั่งสอน ออกคำสั่ง ห้ามไม่ให้ทำ มาเป็นเพื่อนที่เข้าใจ ยอมรับฟัง ชี้ชวนให้คิด เปิดโอกาส ให้พูดแสดงความคิดเห็น เพื่อให้บุตรหลานเลือกเรียนรู้อย่างมีเหตุผล และตัดสินใจในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมด้วยตนเอง
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบว่าบุตรหลานเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรทำ
คือ ตั้งสติ ใช้เหตุผล ร่วมพูดคุยถึงต้นเหตุของปัญหาร่วมกันในเรื่องโทษภัยของยาเสพติด ที่มีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ การเรียนและความผิดทางกฎหมาย โดยไม่ตำหนิ ดุด่า หรือลงโทษอย่างรุนแรง สร้างความเข้าใจกับทุกคนในครอบครัว ให้กำลังใจ แสดงความรัก ความห่วงใย ติดต่อปรึกษากับครูที่ปรึกษา พาบุตรหลานไปปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หลังจากนั้นควรให้เวลาพูดคุย หาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ติดตามและเฝ้าระวัง
แต่ไม่ใช่การจับผิด หรือระแวงไม่ไว้วางใจ ช่วยประคับประคอง ให้เวลา และโอกาสเพื่อลูกได้เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา
ลด ละ เลิกยาเสพติด และใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติด้วยตนเอง การรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องของพ่อแม่ และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบำบัดรักษา จะเป็นประโยชน์ต่อการเลิกยาเสพติด ที่ต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือสัมพันธภาพที่ดี และการใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัว หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติด ได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
*************************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช.
-ขอขอบคุณ- 19 กันยายน 2567