ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยแนวโน้มคนไทยฆ่าตัวตายสูงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดปี 2551 เกิด 7,237 ราย ทำสำเร็จ 439 ราย สูงเป็นอันดับ 4 ของผู้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บทุกสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานและนักเรียนนักศึกษา แนะพ่อแม่ คนในครอบครัว เพิ่มความเอาใจใส่ ไต่ถามทุกข์สุข หาทางออกคลี่คลายปัญหา ให้ความรักความอบอุ่น ใกล้ชิดลูกหลาน เพื่อเป็นเกราะคุ้มกัน ป้องกันการคิดทำร้ายตัวเอง นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทยว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติของสำนักระบาดวิทยา เก็บข้อมูลในกลุ่มบาดเจ็บรุนแรง ผู้บาดเจ็บที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล และเสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉิน รวมทั้งที่รับไว้สังเกตอาการ หรือรับไว้รักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 30 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ในปี 2551 มีผู้บาดเจ็บจากการตั้งใจทำร้ายตนเองเพื่อฆ่าตัวตายรวม 7,237 รายหรือร้อยละ 2 ของผู้บาดเจ็บทุกสาเหตุซึ่งมีจำนวน 366,396 ราย และเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 439 ราย หรือร้อยละ 7 ของผู้เสียชีวิตทุกสาเหตุจำนวน 6,369 ราย โดยการเสียชีวิตจากฆ่าตัวตายสำเร็จ สูงเป็นอันดับ 4 ของผู้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บทุกสาเหตุ จากการวิเคราะห์รายละเอียด พบว่าผู้ทำร้ายตนเองเป็นผู้หญิงมากกว่าชาย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยรุ่นและหนุ่มสาว มากที่สุดในกลุ่มอายุ 20-24 ปีร้อยละ 22 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปีร้อยละ 20 และอายุ 25-29 ปีร้อยละ 17 ร้อยละ 38 เป็นผู้ใช้แรงงาน รองลงมาเป็นนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 17 และไม่มีอาชีพร้อยละ 12 สถานที่ก่อเหตุทำร้ายตนเองส่วนใหญ่ร้อยละ 82 อยู่ที่บ้านและบริเวณบ้าน รองลงมาคือหอพัก เรือนจำร้อยละ 9 มักกระทำในช่วง 18-22 น. วิธีการที่ใช้มากที่สุด ได้แก่ กินสารเคมีหรือสารพิษที่ไม่ทราบชนิดร้อยละ 23 รองลงมาคือกินยาแก้ปวดลดไข้ร้อยละ 16 และกินยาฆ่าหญ้ายาฆ่าแมลงร้อยละ 15 ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงกว่า 2 เท่าตัว ร้อยละ 36 เป็นผู้ใช้แรงงาน รองลงมาเป็นเกษตรกรร้อยละ 16 และไม่มีงานทำร้อยละ 15 นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายพบว่ามีหลายสาเหตุ เช่น การเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเครียด คับข้องใจ อีกทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการฆ่าตัวตายผ่านสื่อต่างๆ ก็มีผลให้เกิดการเลียนแบบการทำร้ายตนเองมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี2547-2551 พบว่า แนวโน้มผู้ที่บาดเจ็บจากการทำร้ายตนเองสูงขึ้นในปี 2551 เป็นหญิงมากกว่าชาย แต่ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นชายมากกว่าหญิง แนวโน้มเกิดในกลุ่มอายุ 20-39 ปีสูงขึ้นทุกปี และสูงขึ้นในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน นักเรียนนักศึกษา และผู้ไม่มีงานทำ ส่วนวิธีการทำร้ายตนเองด้วยการกินยาลดไข้ยาแก้ปวด พิษจากยาและสารเคมีที่ไม่ทราบรายละเอียด และวัตถุมีคมมีแนวโน้มสูงขึ้น การกินยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงมีแนวโน้มลดลง ผู้ตายจะใช้บ้านและบริเวณบ้านเป็นสถานที่ทำร้ายตนเองมากที่สุดทุกปี นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง วิธีการป้องกันขอให้พ่อแม่ผู้ปกครอง และสมาชิกในครอบครัวเอาใจใส่ดูแลกันและกัน แสดงออกถึงความรักความห่วงใย ไต่ถามทุกข์สุขพูดคุยใกล้ชิดกันให้มากขึ้น เพื่อให้วัยรุ่นวัยเรียนได้มีโอกาสพูดคุยปรึกษาหาทางออกในการแก้ไขปัญหาคับข้องใจ ป้องกันไม่ให้คิดหรือมีโอกาสทำร้ายตนเอง และควรออกกำลังกายเพื่อลดความเครียด ซึ่งจะทำให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หรือสารแห่งความสุข ทำให้หลับสบายขึ้น สมองปลอดโปร่ง นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้สถานบริการทุกจังหวัดจัดมุมให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่น และเปิดสายด่วนสุขภาพจิตระบบตอบรับอัตโนมัติ ให้คำปรึกษาแก่ผู้มีปัญหาด้านจิตใจ หมายเลข 1667 โดยโทรศัพท์มือถือกด 1667 ได้โดยตรง ทางไกลให้กดรหัส 02 แล้วตามด้วย 1667 ส่วนโทรศัพท์สาธารณะให้หยอดเหรียญก่อนกด 1667 โทรฟรีทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง ********************************* 2 มกราคม 2553


   
   


View 16    02/01/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ