ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันกระบวนการทำงานโครงการไทยเข้มแข็ง ข้าราชการกระทรวงฯ ทำด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่นสุจริตเพื่อผลประโยชน์ประชาชน ยึดตามระเบียบกฎหมาย ยอมรับบางจุดมีปัญหาบ้าง แต่สามารถจัดการได้ในรูปคณะกรรมการกลาง โดยจะขอผลสอบของนายแพทย์บรรลุ เพื่อปรับปรุงโครงการต่อไป โดยให้ความเป็นธรรมข้าราชการที่เกี่ยวข้องชี้แจงความจริง นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในเช้าวันนี้ (29 ธันวาคม 2552) ได้ประชุมผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ เพื่อหารือเรื่องโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช และคณะ ได้เสนอผลการสอบโครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 โดยประเด็นหารือหลักในวันนี้มี 2 ประเด็นใหญ่คือ เรื่องภาพลักษณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถูกมองว่าทุจริต และประเด็นของข้าราชการ 8 คนที่ถูกระบุในผลสอบ นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ไม่ห่วงเรื่องผลสอบ เพราะสามารถชี้แจงได้ทุกขั้นตอน ยืนยันว่าสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมา ยืนอยู่บนความตั้งใจ สุจริต โปร่งใส และยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ได้รับบริการที่ดีกว่าในอดีต ข้อกล่าวหาของแต่ละคน จะให้ความเป็นธรรม และให้โอกาสแต่ละคนชี้แจงเหตุผล เชื่อมั่นว่าจะสามารถชี้แจงที่มาที่ไปในแต่ละเรื่องที่รับผิดชอบตามความเป็นจริง ในประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขถูกตั้งข้อหาว่าส่อทุจริตนั้น ขอยืนยันว่ากระบวนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำอย่างเป็นขั้นตอน บนฐานความต้องการของพื้นที่แต่ละระดับ โดยโครงการทั้งหมดเกิดจากความต้องการพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกระทรวงสาธารณสุขที่ขาดแคลนมานานเกือบ 10 ปี การออกแบบโครงการคำนึงถึงความขาดแคลนในทุกระดับ และเชื่อมโยงกันตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชม โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และศูนย์ความเป็นเลิศ รวมไปถึงการเพิ่มและพัฒนาบุคลากร และสิ่งสนับสนุน เช่น แฟลตที่พักแพทย์ พยาบาล นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่ออีกว่า กระบวนการพิจารณาโครงการนั้น เป็นไปตามรายการความต้องการจากพื้นที่ เสนอผ่านจังหวัด ผ่านเขตตรวจราชการสาธารณสุข มายังหน่วยงานเจ้าของโครงการ และเมื่อผ่านความเห็นชอบของกระทรวงสาธารณสุข ก็ส่งไปผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงการคลัง จึงไปผ่านมติครม. เห็นชอบวงเงิน สำหรับความคืบหน้าโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพันแม้แต่รายการเดียว และเมื่อมีผู้ทักท้วงว่าอาจไม่มีความเหมาะสม เรื่องราคา การกระจุกตัวในบางพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการทบทวน โดยมีกรรมการที่เป็นตัวแทนจากทุกฝ่าย ขณะนี้ก็มีความคืบหน้าจนเกือบได้ข้อสรุปแล้ว ซึ่งการตั้งวงเงินก็ได้ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ และมติครม.ทุกประการ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะได้ขอรายละเอียด ข้อทักท้วงของคณะกรรมการชุดอาจารย์บรรลุ เพื่อมาดำเนินการปรับปรุงโครงการต่อไป ซึ่งรายการการลงทุนของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท สูงกว่าโรงพยาบาลชุมชนที่ได้ 18,000 ล้านบาท และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวงเงิน 14,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นรายการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และเครื่องมือแพทย์ชั้นสูง ทำให้วงเงินสูง แต่จำนวนไม่มาก ส่วนผลการสอบของคณะกรรมการที่พิจารณาว่า ไม่ทุจริต แต่มีความบกพร่องในฐานะรองปลัดกระทรวงที่ดูแลกำกับสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาคนั้น หากติดตามมาตลอดจะทราบว่าโครงการไทยเข้มแข็งดำเนินการต่อจากโครงการเมกะโปรเจค เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเริ่มต้นวางแผนใหม่จะต้องใช้เวลา 6-12 เดือน อดีตปลัดกระทรวงคนก่อนมอบหมายให้รองปลัดด้านบริหารเป็นผู้ดูแล จึงไม่สามารถก้าวก่ายการทำงานได้ แต่หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวง และมีข้อสงสัยความโปร่งใสของโครงการนี้ขึ้น จึงได้มีหนังสือสั่งการให้ชะลอโครงการตั้งแต่ 30 กันยายน 2552 เป็นต้นมาจนกว่าจะได้ข้อสรุป และขอยืนยันว่าการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขมีขั้นตอน ต้องยอมรับว่าโครงการขนาดใหญ่ซึ่งมีกว่า 7,000 รายการ ย่อมมีโอกาสที่จะพบความผิดพลาดได้ เมื่อพบสิ่งที่มีปัญหาก็พร้อมจะแก้ไข ต่อข้อเสนอที่คณะกรรมการต้องการให้ทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขยินดีที่จะทบทวนเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ โดยพิจารณาร่วมกับทุกฝ่ายทั้งสภาพัฒน์ฯ แพทย์ชนบท แต่ติดขัดเงื่อนไขเรื่องกำหนดเวลา ซึ่งจะต้องขอผ่อนผันกับนายกรัฐมนตรี โดยจะขออนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่ออธิบายกระบวนการ แนวคิด หลักการในการดำเนินการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมสมุดปกขาวชี้แจงข้อเท็จจริงไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 และรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนพ.บรรลุเสร็จสิ้น ทั้งนี้ มาตรการทำงานในอนาคต กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งวางแผนพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยในเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมในกระบวนการทำแผน และดำเนินการตามแผนต่อไป ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รายการการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์และการก่อสร้างที่เสนอขึ้นมา เป็นการเสนอจากผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง บางรายการมีราคาแตกต่างกันตามระดับเทคโนโลยี โดยกรมมีนโยบายชัดเจนขอให้จัดซื้อจัดจ้างถูกต้องตามระเบียบ โปร่งใส สุจริต และมีรองอธิบดีกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จะทำให้การบริการมีประสิทธิภาพดี ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลน้อยลง และเครื่องมือทุกชิ้น เตรียมไว้รองรับผู้ใช้บริการทุกคน และยืนยันว่า ยังไม่มีการใช้เงินงบประมาณแม้แต่บาทเดียว และหากไม่ให้ซื้อเทคโนโลยีใหม่ ผู้เสียประโยชน์ก็คือประชาชนผู้ใช้บริการ ******************************* 29 ธันวาคม 2552


   
   


View 17    29/12/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ