รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รุดเยี่ยมอาการผู้ป่วยที่สูดพิษก๊าซกำมะถัน 4 รายที่สระบุรี 2 รายอาการสาหัสนอนไอซียู อีก 2 รายอาการปลอดภัย อาจกลับบ้านวันนี้ ชี้แนวโน้มปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ได้ตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพประชาชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขโดยเฉพาะการป้องกันก่อนปัญหาเกิด
จากเหตุก๊าซกำมะถันรั่วที่โรงงานไทยเรยอนจำกัด นิคมอุตสาหกรรมหนองแค อ.หนองแค จ.สระบุรี เมื่อคืนที่ผ่านมาเวลาประมาณ 21.26 น. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บ 4 คนนั้น
เวลา 11.00 น. วันนี้ (19 ธันวาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคและผู้เชี่ยวชาญ เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาก๊าซกำมะถันรั่วที่โรงงานไทยเรยอน จ.สระบุรี เมื่อคืนที่ผ่านมา และเยี่ยมอาการผู้ป่วยที่สูดก๊าซพิษดังกล่าวจำนวน 4 ราย ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลสระบุรี
นายวิทยากล่าวว่า ผู้ป่วย 4 ราย ที่นอนรักษาตัว เป็นวิศวกรของโรงงานไทยเรยอน อ.หนองแค ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเส้นใยสงเคราะห์ที่มีสารคาร์บอนไดซัลไฟต์ในโรงงาน โดยมีอาการหนัก 2 ราย แพทย์ใส่เครื่องช่วยหายใจและนอนในห้องไอซียู ได้แก่ นายสมพล เปรมปรามอมร อายุ 34 ปี ล่าสุดยังไม่รู้สึกตัว อยู่ในความดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด และนายวิชัย จินดานาถ อายุ 40 ปี ขณะนี้อาการดีขึ้น รู้สึกตัว ส่วนอีก 2 ราย ได้แก่นายณัฐกฤษ เลิศเอกธรรม อายุ 22 ปี และนายปราโมช ทัศนานุตรียกุล อายุ 24 ปี ขณะนี้อาการปลอดภัย ลุกเดินไป หายใจได้ดี ไม่มีอาการแน่นหน้าอก หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านในวันนี้ สำหรับผู้เสียชีวิต 1 รายคือนายอภิชาต ศรีเมือง อายุ 23 ปี เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลหนองแค จ.สระบุรี
นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากมลพิษสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย มีความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น การเจ็บป่วยจากมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญและพัฒนาระบบริการเป็นการเฉพาะ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50,000 ชนิด ประชาชนยังมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก การแก้ไขมักจะอยู่ในลักษณะไล่ตามปัญหาเกิดขึ้น
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายในการป้องกันภัยจากมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพอนามัย ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการ คณะกรรมการประกอบด้วย อธิบดี นักวิชาการ จากกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา ศูนย์ดังกล่าว จะช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมีความมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดจากการใช้กำมะถันในกระบวนการผลิต โดยทำปฏิกิริยาเป็นก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟต์ เมื่อเกิดการรั่วไหลอาจมีการทำปฏิริยากับความร้อนเกิดเป็นก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์ (Hydrogen sulfide)หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ"ก๊าซไข่เน่า" ก๊าซดังกล่าวจะมีกลิ่นฉุน คล้ายไข่เน่าหรือกลิ่นกำมะถัน มีฤทธิ์ระคายเคือง ทำให้แสบตา คอ จมูก หากสูดเข้าไปจำนวนมากจะระคายเคืองระบบหายใจ ทำให้วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้ การรักษา จะให้การรักษาตามอาการ โดยใช้เครื่องช่วยหายใจและให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายขับสารพิษออกจากร่างกายเร็วที่สุด และป้องกันโรคแทรกซ้อน ที่สำคัญคือปอดบวมและน้ำท่วมปอด ส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ร่างกายจะขับออกเองตามธรรมชาติ
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า อันตรายของการสูดก๊าซพิษกำมะถัน ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซที่สูดเข้าไปในร่างกาย มีหลายระดับ คือ 0.2 พีพีเอ็ม ( 0.2 ส่วนใน 1 ล้านส่วน ) จะเริ่มได้กลิ่น หากความเข้มข้น 10 พีพีเอ็ม จะได้กลิ่นที่รุนแรงมาก ระดับ 50 พีพีเอ็ม จะเกิดอาการระคายตา และเยื่อบุทางเดินหายใจ ระดับ 150 พีพีเอ็ม ประสาทรับกลิ่นไม่ทำงาน ระดับ 200 พีพีเอ็ม จะไม่ได้กลิ่น แต่จะระคายเคืองทำให้ตาแดง เจ็บคอ หากระดับ 250 พีพีเอ็ม อาจมีน้ำท่วมปอด ถ้าสูดดมนานราวครึ่งถึง 1 ชั่วโมง เกิดอาการปวดศีรษะ หากระดับความเข้มข้น 500 พีพีเอ็ม จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ หมดสติ และหยุดหายใจ และถ้าความเข้มข้นมากตั้งแต่ 500-1000 พีพีเอ็ม จะเกิดอาการขาดออกซิเจนในทุกระบบ และหยุดหายใจ เสียชีวิต
การป้องกันเมื่อพบการรั่วไหลหรือรู้สึกสัมผัสก๊าซดังกล่าว ให้รีบหนีออกจากบริเวณนั้นให้เร็วที่สุด โดยหนีไปอยู่ในที่โล่ง ที่มีอากาศถ่ายเทดี หากมีอาการระคายเคืองให้รีบล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด และไปพบแพทย์ โดยก๊าซนี้จะไม่สะสมในร่างกาย จะถูกขับออกทางลมหายใจ
View 15
19/12/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ