สาธารณสุข ร่วมกับภาคีสุขภาพ ทุ่มงบกว่า 30,000 ล้านบาท ยกระดับสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน 9,810 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นความหวังบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ ดูแลคนทั้งครอบครัวไม่ให้เจ็บป่วย เฉพาะปีงบประมาณ 2552 นำร่อง 1,001 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาศักยภาพบุคลากร สำหรับจังหวัดสงขลามีสถานีอนามัยได้รับการยกระดับในปีนี้จำนวน 17 แห่ง วันนี้ (12 ธันวาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่ง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นสถานีอนามัย 1 ใน 17 แห่ง ของจังหวัดสงขลา ที่ได้รับการพัฒนายกระดับบริการเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในปี 2552 นายวิทยากล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพของระบบสาธารณสุข โดยยกระดับสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชนขึ้นเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้ครอบคลุม ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางเพื่อไปพบแพทย์ในตัวเมืองหรืออำเภอ โดยเน้นหนักงานเชิงรุกในชุมชน ซึ่งเป็นบริการรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ หรือใช้วัคซีนป้องกัน นายวิทยากล่าวต่อว่า โครงการนี้ตั้งเป้าพัฒนายกระดับสถานีอนามัย รวมทั้งศูนย์สุขภาพชุมชนที่มีทั้งหมด9,810 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ระหว่างปีงบประมาณ 2552-2555 ในวงเงิน 30,877 ล้านบาทเศษ ซึ่งมาจากงบประมาณ 4 แหล่ง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขและการจัดสรรเพิ่มจากรัฐบาล 13,494 ล้านบาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน 10,150 ล้านบาท สปสช. 7,083 ล้านบาทเศษ และสสส. 150 ล้านบาท โดยจะปรับปรุงอาคารสถานที่ เพิ่มบุคลากร เครื่องมือแพทย์ ติดตั้งระบบการปรึกษาแพทย์ และรักษาทางไกลผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บริการการแพทย์ฉุกเฉิน และระบบส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลแม่ข่าย ในปีงบประมาณ 2552 นี้นำร่อง 1,001 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงอาคารสถานที่ คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในต้นปี 2553 นี้ สำหรับขอบเขตการให้บริการ จะเน้นการทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ การทำงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคให้แก่ประชาชนในชุมชน การรักษาพยาบาลให้คำปรึกษาประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนและชุมชน และเชื่อมประสานระหว่างผู้ป่วยกับชุมชนกับสถานบริการทุกระดับ โดยมีการออกเยี่ยมบ้าน จัดทำแฟ้มสุขภาพประจำบุคคลทุกครัวเรือน เพื่อความครอบคลุมของการให้บริการในแต่ละครอบครัว ทั้งการฉีดวัคซีน การฝากครรภ์ การคลอด หลังคลอด ทันตกรรม การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม รวมทั้งผู้โรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ มั่นใจว่าประชาชนจะสุขใจจากการได้รับการบริการที่สะดวกสบาย ใกล้บ้านและมีประสิทธิภาพ ******************************************* 12 ธันวาคม 2552


   
   


View 11    12/12/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ