กระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวธรรมชาติ เดินป่า นอนเต๊นท์ ช่วงหน้าหนาวหรือชมฝนดาวตกลีโอนิดส์ ให้ระวังตัวไรอ่อนกัด ป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ ในปีนี้พบป่วยแล้วกว่า 4,000 ราย เสียชีวิต 6 ราย แนะวิธีป้องกันหลีกเลี่ยงการนั่งและนอนกับพื้นดินติดบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ ให้สวมเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ถุงเท้ารองเท้าให้มิดชิด ทายากันแมลง หากหลังกลับจากป่าภายใน 2 สัปดาห์ ป่วยมีไข้สูง ให้รีบพบแพทย์ทันที มียารักษาหายขาด
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงฤดูหนาว คาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ เดินป่าหรือตั้งเต็นท์พักแรมในป่าเขา สัมผัสอากาศหนาว อีกทั้งในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2552 จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ และวันที่ 13 ธันวาคม 2552 จะมีฝนดาวตกเจมินิดส์ คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางไปพักแรมในป่าเขา เพื่อชมปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าว หากเข้าไปในเขตพื้นที่เป็นแหล่งอาศัยของไรอ่อน และบังเอิญถูกไรอ่อนหรือไรแดง (Chigger) ที่มีเชื้อก่อโรคสครับ ไทฟัส กัด จะทำให้ป่วยเป็นโรคสครับ ไทฟัส (Scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ได้
ทั้งนี้ จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม 31 ตุลาคม 2552 มีผู้ป่วยเป็นโรค สครับไทฟัส เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 4,197 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด พบ 20 คนในประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่ภาคใต้ 7 คนในประชากรแสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 คนในประชากรแสนคน และภาคกลาง 2 คนในประชากรแสนคน
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ขอแนะนำนักท่องเที่ยวเดินป่า หากจะกางเต๊นท์พักแรมในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนกับพื้นดินติดบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือที่หญ้าขึ้นรก เนื่องจากเป็นที่อาศัยของตัวไรอ่อน ในการป้องกันตัวไม่ให้ไรอ่อนกัด ขอให้แต่งตัวให้รัดกุมมิดชิด ใส่กางเกงขายาวเสื้อแขนยาวปิดคอ เหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่รองเท้าและสวมถุงเท้ายาวหุ้มปลายขากางเกงไว้ และทายากันแมลงตามแขนขาส่วนที่พ้นจากเสื้อผ้า เมื่อกลับจากการท่องเที่ยวพักแรมในป่า ขอให้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และซักเสื้อผ้าที่ใช้มาแล้วให้สะอาด เพื่อกำจัดตัวไรที่อาจติดมากับเสื้อผ้า
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ กล่าวว่า โรคสครับ ไทฟัส เป็นโรคติดต่อในสัตว์ฟันแทะที่อยู่ในป่า เกิดจากเชื้อริกเกตเซีย (Rickettsia) ซึ่งอยู่ในตัวไรอ่อน ที่อาศัยอยู่ตามตัวของสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระแต กระจ้อน เมื่อตัวไรอ่อนดังกล่าวไปกัดคน มักจะเข้าไปกัดในบริเวณร่มผ้า และปล่อยเชื้อริกเกตเซียเข้าสู่คน หลังถูกกัดประมาณ 10 -12 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจมีอาการปวดน่อง
ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีตับโต ม้ามโต โดยผู้ที่ถูกไรอ่อนกัดประมาณร้อยละ 30 - 40 จะมีแผลบุ๋มสีดำ ลักษณะคล้ายโดนบุหรี่จี้ แต่ไม่เจ็บ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ หลังมีไข้ประมาณ 4-5 วันบางรายจะมีผื่นนูนแดงตามตัว กระจายไปแขนขา ซึ่งจะหายไปใน 2-3 วัน บางรายอาจมีอาการทางปอด ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการสมอง คอแข็ง เสียชีวิตได้
ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้หลังกลับออกจากเที่ยวป่า ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการไปเที่ยวป่าให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งมียารักษาโรคนี้หายขาด
************************** 16 พฤศจิกายน 2552
View 19
16/11/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ