รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมทำแนวทางการลดการบริโภคยาสูบในคนไทย และเชิญกระทรวงการคลัง มาร่วมหารือการขึ้นภาษีบุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่มวนเองหรือที่รู้จักกันว่า ยาเส้น บุหรี่พื้นเมือง หรือยาเส้นพื้นเมือง และยานัตถ์ที่มีส่วนผสมยาสูบ เพื่อลดการสูบบุหรี่ให้ได้มากที่สุด พร้อมให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยหายาสมุนไพรไทย เลิกบุหรี่ ที่มีราคาถูกกว่า มาใช้แทนหมากฝรั่งและยาแผนปัจจุบัน นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อเสนอการเพิ่มภาษีบุหรี่ของสำนักงานโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลก(GATS) ว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญ การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ได้ดำเนินการบังคับใช้กฏหมายมาโดยตลอด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากมูลนิธิบลูมเบิร์ก เนื่องจากผู้ที่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะได้สร้างมลภาวะให้กับผู้อื่น จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาพูดคุยเพื่อดำเนินการทางกฎหมายให้เข้มข้นขึ้น และสร้างแนวทางการลดการบริโภคยาสูบในคนไทย ส่วนเรื่องบุหรี่มวนเอง หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันว่ายาเส้น บุหรี่พื้นเมือง หรือยาเส้นพื้นเมือง ซึ่งขณะนี้เก็บภาษีต่ำมาก ดังนั้นหากจะให้ประชาชนลดการสูบบุหรี่ที่มวนเองนี้ คณะทำงานเห็นสมควรว่าน่าจะขึ้นภาษี กระทรวงสาธารณสุขจะหารือกับกระทรวงการคลัง โดยจะนำสถิติจากการสำรวจเสร็จสิ้นเป็นประเทศแรกในครั้งนี้ นำข้อมูลมาร่วมวิเคราะห์ด้วย หากจะมีการบังคับใช้ในการขึ้นภาษีบุหรี่มวนเองแล้ว ผู้สูบบุหรี่ชนิดนี้จะลดลงหรือไม่ สำหรับยานัตถ์หากมีส่วนผสมของยาสูบ ก็จะนำมาขึ้นภาษีเช่นกัน นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดูแลรักษาผู้ที่คิดจะเลิกสูบบุหรี่ ขณะนี้ยาแผนปัจจุบันมีราคาแพง รวมทั้งหมากฝรั่งที่ใช้เคี้ยวเพื่อเลิกบุหรี่ก็มีราคาค่อนข้างสูงเช่นกัน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หาสมุนไพรไทยมาใช้เลิกสูบบุหรี่ และหาอาสาสมัครเพื่อมาทดลองการเลิกสูบบุหรี่ด้วยสมุนไพรไทย ทั้งนี้ได้ให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แจ้งสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด รวบรวมตำรับยาทุกชนิด จากหมอพื้นบ้านทุกภาค การแยกสารสกัดสมุนไพรมาวิเคราะห์ คาดคงต้องใช้เวลาอีกนาน สำหรับผลการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลกในประเทศไทย พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของการสำรวจมาตรฐานเดียวกับโลก 14 ประเทศ พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่ชนิดมีควัน 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23.7 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เพศชายมีอัตราสูบร้อยละ 45.6 เพศหญิงร้อยละ 3.1 โดยเป็นผู้สูบบุหรี่ซองผลิตจากโรงงาน 5 ล้านคน สูบบุหรี่ชนิดมวนเอง 4.5 ล้านคน สูบบุหรี่ซองและบุหรี่มวนเองปนกัน 2.9 ล้านคน และสูบบุหรี่อื่นชนิดมีควัน เช่นไปป์ ซิการ์ ขี้โย 1 แสนคน ส่วนการเลิกสูบบุหรี่ พบว่า คนที่สูบยาสูบ6 ใน 10 คิดจะเลิกสูบ ผู้ทีสูบบุหรี่ 7 ใน 10 คิดอยากเลิกสูบ เพราะเห็นคำเตือน โดยมีคนไทยที่เลิกสูบยาสูบแล้ว 4.6 ล้านคน คนที่เคยสูบเป็นประจำ 3 ใน 10 ได้เลิกสูบแล้ว


   
   


View 14       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ