กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบความพร้อมเครือข่ายการควบคุมป้องกันโรคระบาดอันตราย ภัยพิบัติฉุกเฉินทุกรูปแบบ เสนอเพิ่มทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจังหวัดละไม่ต่ำกว่า 50 คน ปรับโครงสร้างเครือข่ายการประสานงานทั้งประเทศครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ให้พร้อมรับกฎอนามัยระหว่างประเทศฉบับใหม่ ที่จะเริ่มใช้ทั่วโลกในอีก 5 เดือนข้างหน้า โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้โรคฝีดาษ โปลิโอ ซาร์ส และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ต้องแจ้งด่วน ภายใน 24 ชั่วโมง วันนี้ (11 มกราคม 2550) ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหาร นักวิชาการ แพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสถานีอนามัยทั่วประเทศกว่า 400 คน เพื่อแจ้งมาตรการความพร้อมในการรับมือในการควบคุมป้องกันโรคติดต่อ รวมทั้งภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชนของประเทศไทย ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลใช้ทั่วโลกเป็นมาตรฐานเดียวกันในอีก 5 เดือนหรือประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 นี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทย จะต้องวางมาตรการความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุม ป้องกัน และสอบสวนโรคติดต่อ และระบบเครือข่ายการประสานงานตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า สถานการณ์โลกในปัจจุบันมีโรคติดต่อที่เป็นปัญหาใหม่และมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ส ไข้เลือดออก ไข้หวัดนก โรคติดต่อที่ควบคุมได้แล้วกลับมาระบาดใหม่ เช่น วัณโรค โรคโปลิโอ รวมทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติ น้ำท่วม คลื่นยักษ์ แผ่นดินไหว ซึ่งมีแนวโน้มเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้ สาเหตุจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวน้ำทะเล และภัยสุขภาพจากการใช้อาวุธชีวภาพจากเชื้อโรค เช่น เชื้อแอนแทร็กซ์ ไข้ทรพิษ ภัยจากสารเคมี เช่นสารทำลายประสาท จากรังสีอันตราย การเกิดอุบัติเหตุหมู่ขนาดใหญ่ เช่นจากระเบิด ไฟไหม้ และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยองค์การอนามัยโลกได้ทบทวนกฎอนามัยระหว่างประเทศฉบับเก่าซึ่งใช้มานานกว่า 40 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2512 นำมาปรับปรุงใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2550 โดยสาระสำคัญของกฎอนามัยระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ควบคุมการแพร่กระจายโรค และภัยสุขภาพข้ามประเทศ ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจต่างๆ ทั้งนี้ ตามกฎอนามัยฉบับใหม่นี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดโรคและภัยสุขภาพ ให้ประเทศสมาชิก 192 ประเทศทั่วโลกต้องแจ้งรายงาน และดำเนินการควบคุมโรคเป็นการด่วนภายใน 24 ชั่วโมง จำนวน 4 โรค ได้แก่ โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ(Smallpox) โรคโปลิโอ (Polio) ซาร์ส (SARS) โรคไข้หวัดใหญ่ในคนที่เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (Human influenza caused by a new subtype) หรือจากเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังป้องกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งโรคติดต่ออันตรายที่ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินระดับนานาชาติและต้องแจ้งองค์การอนามัยโลกหากเกิดขึ้นเช่นอหิวาตกโรค (Cholera) กาฬโรค (Pneumonic Plague) ไข้เหลือง(Yellow fever) โรคไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสอีโบล่า (Ebola) เชื้อลาสสา (Lassa) และมาร์เบิร์ก (Marburg) ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile fever) และโรคอื่น ๆ ที่สถานการณ์น่าเป็นห่วง เช่น ไข้เลือดออก (Dengue fever) ไข้ริฟท์ แวลเลย์ (Rift Valley Fever) โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningoccocal Disease ) เป็นต้น นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า ในการ ป้องกันควบคุมโรคดังกล่าวนี้ ทุกประเทศจะต้องมีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองได้อย่างรวดเร็วหรือทันทีหลังได้รับแจ้ง และสามารถประเมิน วิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพประชาชน ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึงระดับประเทศ และพัฒนามาตรฐาน ปรับปรุงมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ด่านเข้าออกระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดข้ามประเทศ อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ทวีความรุนแรงขึ้น และร้อยละ 80 เกิดขึ้นกลุ่มประเทศเอเชีย ขณะนี้มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูหนาว หากควบคุมไม่ได้อาจเกิดเชื้อกลายพันธุ์ และระบาดทั่วโลก ที่ประชุมสมาชิกองค์การอนามัยโลกจึงได้เสนอให้มีการบังคับใช้กฎอนามัยเร็วขึ้นตามความสมัครใจของประเทศสมาชิก ซึ่งประเทศไทยได้เห็นชอบในหลักการนี้ด้วย โดยได้เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรับวิกฤตการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ที่สำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายใหม่ และศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว หรือทีมเอส อาร์ อาร์ ที (SRRT : Surveillance and Rapid Response Team) ทุกระดับ จังหวัดละไม่ต่ำกว่า 50 คน ครอบคลุมถึงระดับหมู่บ้าน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนที่สุด ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีเอส อาร์ อาร์ ที ทั่วประเทศ 1,030 ทีม และเป็นที่ยอมรับจากผลการปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคที่ผ่านมา ทั้งโรคซาร์ โรคไข้หวัดนก โดยได้มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นแกนหลักประสานกับองค์การอนามัยโลกเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า งานระบาดวิทยามีความสำคัญมากในงานสาธารณสุข เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของการควบคุมป้องกันโรค จากการสำรวจเมื่อปลายปี 2549 พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอขอปรับปรุงโครงสร้าง และกำหนดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ด้านระบาดวิทยาใหม่ ให้ครอบคลุมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอที่ดูแลสถานีอนามัยตามหมู่บ้านต่างๆ โรงพยาบาลทุกระดับ จังหวัดละไม่ต่ำกว่า 50 คน ทั้งนี้ ในการดำเนินงานจะใช้แบบระบบเครือข่ายทั้งด้านการรักษาผู้ป่วย การสอบสวนโรคเพื่อการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นศูนย์กลางเฝ้าระวังโรค ซึ่งจะต้องรายงานเหตุการณ์เร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง มายังสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นผู้ประสานกฎอนามัยระดับชาติให้แจ้งไปยังองค์การอนามัยโลกทันที นายแพทย์ธวัชกล่าว มกราคม2/10-11********************************* 11 มกราคม 2550


   
   


View 7    11/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ