ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังภัย 6 โรคที่ตามมาภายหลังน้ำท่วม ได้แก่ โรคฉี่หนู อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ ตาแดง และไข้เลือดออก สั่งการทุกจังหวัดจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาฟรีต่อเนื่อง ให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง จนถึงขณะนี้ทุกพื้นที่ยังไม่มีโรคระบาดใดๆ
วันนี้(4 ตุลาคม 2552)ที่จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขพร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จุดอพยพหน้าสำนักงานที่ดินอำเภอวารินชำราบ ซึ่งมีจำนวน 478 คน โดยมอบยาชุดน้ำท่วมพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคขององค์การเภสัชกรรมหรือจีพีโอเพื่อผู้ประสบภัย จำนวน 1,000 ชุด มูลค่า 3 แสนบาท พร้อมด้วยร้องเท้าบู๊ท 500 คู่ ป้องกันโรคฉี่หนูและน้ำกัดเท้า ให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุกิสนา พบยังมีน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด เช่น พิจิตร เพชรบูรณ์ ลำปาง ระนอง ชัยภูมิ อุบลราชธานี ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัย เฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วมและภายหลังน้ำลด โดยเน้นหนัก 6 โรคที่พบได้บ่อยภายหลังมีน้ำท่วมขัง ได้แก่ โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ ตาแดง และไข้เลือดออก ให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยฟรี และให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดโรค และป้องกันการเสียชีวิตหลังเจ็บป่วยได้ ซึ่งทุกจังหวัดมีเวชภัณฑ์ ยา ดูแลผู้ประสบภัย อย่างครบถ้วนเพียงพอ
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังโรคดังกล่าวของสำนักงานระบาดวิทยาในปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 29 กันยายน 2552 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 2,733 ราย เสียชีวิต 23 ราย โรคอหิวาตกโรค 25 ราย โรคไข้เลือดออก 19,659 ราย เสียชีวิต 9 ราย โรคไทฟอยด์ 2,541 ราย โรคตับอักเสบ 3,626 ราย และโรคตาแดง 77,973 ราย โดยเฉพาะในช่วงที่มีน้ำท่วมที่ผ่านมา ทุกพื้นที่ยังไม่พบโรคระบาดใดๆ อย่างไรก็ตามโรคที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ 2 โรคได้แก่ตาแดง และฉี่หนู เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยในปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าช่วงเดียวกันปี 2551 ประมาณร้อยละ 8 สำหรับที่จ.อุบลราชธานี ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนทีในรอบสัปดาห์มานี้ พบผู้เจ็บป่วยประมาณ 500 ราย อาการไม่รุนแรง ที่พบมากได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัดทั่วๆไป
ต้องขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ห้ามถ่ายอุจจาระหรือทิ้งขยะลงน้ำอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้น้ำสกปรก เสี่ยงเกิดโรคระบาดได้ง่ายโดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำเช่นไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โรคตับอักเสบ รวมทั้งโรคตาแดง วิธีลดความสกปรกในน้ำท่วมที่ดีที่สุดหากส้วมใช้การไม่ได้ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงถุงดำหรือถุงพลาสติกหรือเรียกว่าส้วมมือถือ และทิ้งขยะลงในถุงดำหรือถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้มิดชิดป้องกันแมลงวันตอม ก่อนนำไปทำลาย นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ผู้ประสบภัยขาดแคลนในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง ก็คือน้ำดื่ม น้ำใช้ ขอให้ดื่มน้ำบรรจุขวดที่มตราอย. หรือดื่มน้ำต้มสุก กินอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ส่วนน้ำใช้นั้น สามารถนำน้ำท่วมมาปรับสภาพให้สะอาดและใช้ได้ โดยใช้สารส้มและคลอรีนเม็ด ใช้กับน้ำ 1 โอ่งมังกรใหญ่ โดยใช้สารส้มแกว่งน้ำให้ตกตะกอนก่อน และใส่คลอรีนเม็ด 1 เม็ด เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ จะทำให้น้ำสะอาดเท่าน้ำประปา ป้องกันโรคผื่นคัน โรคตาแดงได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด โดยจะต้องสวมรองเท้าเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากการเหยียบเศษวัสดุ ทำให้เป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ตุลาคม*** 4 ตุลาคม 2552
View 12
04/10/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ