กระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดระเบียบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ย้ำให้งดเว้นการโฆษณาส่งเสริมการขายและให้ขายถูกบุคคล ถูกสถานที่และถูกเวลา ไม่ได้ห้ามดื่มหรือห้ามขายโดยสิ้นเชิง ขณะนี้ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4 ฉบับเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อเห็นชอบและให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว จากกรณีที่มีผลการศึกษาเรื่องการรับรู้ ทัศนคติและการมีส่วนร่วมของเยาวชนกับการยับยั้งปัญหา และพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครัว สำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ในกลุ่มเด็กประถมปีที่ 2-6 จำนวน 1,583 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43 ยอมรับเคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ให้ลองดื่มคือบิดาหรือคนในครอบครัว อายุที่ต่ำสุดคือ 7 ขวบ และยังพบว่าเด็กร้อยละ 65 เคยไปซื้อด้วยตนเอง โดยผู้ขายร้อยละ 55 ยอมขายทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย ทีสำคัญเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ รู้จักสินค้าเหล้าปั่น เบียร์ เบียร์ปั่น เป็นอย่างดี รู้จักการโฆษณา สถานที่เด็กรู้จักว่าจำหน่ายสุรามากที่สุดคือร้านหมูกระทะ ร้านสะดวกซื้อ และที่น่ากลัวมากที่สุดเด็กส่วนหนึ่งเมื่ออายุครบ 18 ปี จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แน่นอน เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการสะท้อนปัญหาสังคมที่น่าสนใจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดนักดื่มหน้าใหม่โดยเฉพาะเยาวชน ล่าสุดนี้นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามเสนอร่างกฎหมายลูก ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวน 4 ฉบับ เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติพิจารณา ได้แก่ ฉบับที่ 1 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การห้ามขายเหล้าปั่น ฉบับที่ 2 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเน้นบริเวณรอบสถานศึกษา ในระยะห่างไม่เกิน 500 เมตร นับจากรั้วสถานศึกษา ฉบับที่ 3 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามดื่ม ฉบับที่ 4 ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า โดยให้แก้ไขคำเตือนบนฉลากจากอายุ 18 ปี เป็น 20 ปี และให้มีภาพคำเตือนคล้ายกับยาสูบ หากที่ประชุมเห็นชอบก็จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า การออกกฎหมายลูกอีก 4 ฉบับดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการห้ามขายหรือห้ามดื่ม แต่เป็นงดการโฆษณาส่งเสริมการขายและจัดระเบียบการขายให้ขายถูกบุคคล ถูกเวลา และถูกสถานที่ ก็จะไม่สร้างปัญหาให้สังคม โดยเฉพาะสุขภาพของเยาวชนไทยจะไม่ถูกทำลายด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลทั้ง ตับ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ ไต ต่อมเพศ และสมอง ทำให้ไอคิวลดลง **************************************** 7 กันยายน 2552


   
   


View 16    07/09/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ