รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการแพ้ยาของหญิงวัย 64 ปีชาวนครศรีธรรมราช หลังกินยารักษาอาการแผลไฟไหม้ที่หลังเท้าอักเสบพุพอง เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ชี้อาการแพ้ยา มีโอกาสเกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ แนะประชาชนหากมีอาการแพ้ยาเช่น ผื่นคัน ลมพิษ ผื่นแดง ริมฝีปากบวม หรือมีอาการใจสั่น ให้หยุดใช้ยาทันทีและรีบไปพบแพทย์ จากกรณีที่นางสงวน จิตจำนง อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 113/3 หมู่ 1 ต.ไชยมนตรี อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ร้องเรียนขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 ได้ไปรักษาแผลไหม้ที่หลังเท้าด้านขวาอักเสบพุพอง ที่คลินิกแห่งหนึ่งใน อ.เมืองนครศรีธรรมราช โดยมีพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลนครศรีธรรมราชเป็นผู้ทำแผล หลังจากถามว่าเคยแพ้ยาอะไรหรือไม่ จึงบอกว่าที่ผ่านมายังไม่เคยแพ้ยาใด และคลินิกได้จ่ายยาแคปซูลสีดำแดงแก้อักเสบให้ไปกินต่อที่บ้าน 3 เวลาหลังอาหารครั้งละ 1 เม็ด เป็นเวลา 3 วัน หลังจากกินยาได้ 1 วัน มีอาการคันทั้งตัว หน้าบวม มีผื่นคันขึ้นที่แขนและขา และไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สคบ. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าคลินิกดังกล่าวจ่ายยาผิดทำให้เกิดอาการแพ้เป็นแผลทั่วร่างกายนั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้น นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการด่วน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย จึงขอให้ผู้ป่วยคลายความกังวล และดูแลรักษาร่างกายให้หาย นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า การแพ้ยาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ปัจจุบันพบได้บ่อย ทั้งในผู้ที่ไม่เคยมีประวัติแพ้ยามาก่อนซึ่งไม่มีโอกาสทราบเลยว่าจะเกิดการแพ้ยาใดหรือไม่ หรือแม้แต่ในผู้ที่เคยใช้ยาชนิดนั้นแล้วไม่เกิดอาการแพ้ ก็อาจเกิดการแพ้ยานั้นเมื่อใช้ครั้งต่อไปก็ได้ ลักษณะของอาการแพ้ยาที่ไม่รุนแรง ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษ ผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง หรือใบหน้า หนังตา ริมฝีปากบวม แต่หากแพ้ยาอย่างรุนแรงจะมีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม ชีพจรเต้นเบาและเร็ว หยุดหายใจ ช็อค และเสียชีวิตได้ โดยความรุนแรงของการแพ้ยาในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง และหายเองได้เมื่อหยุดยา นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า ในการปฏิบัติตัวของประชาชนหากสงสัยว่ามีอาการแพ้ยา ขอให้หยุดใช้ยานั้น ถ้าใช้ยาอยู่หลายชนิดและไม่ทราบว่าแพ้ยาตัวไหน ควรหยุดยาทุกชนิด และให้กินยาแก้แพ้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาทันที เพื่อรักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น และขอให้นำยาทุกชนิดที่กิน ไปแพทย์ดูด้วย เพื่อจะได้วินิจฉัยได้ถูกต้อง และขอให้จดจำชื่อยาที่แพ้ไว้ เพื่อแจ้งแก่แพทย์ในการรักษาครั้งต่อไป ป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้ยาอีก นอกจากนี้ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาที่ไม่ทราบว่าเป็นยาอะไร เช่น ยาชุด ยาที่ไม่มีฉลาก ยาหม้อ ยาต้ม เป็นต้น ทั้งนี้ในกรณีผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยามาแล้ว เมื่อใช้ยาที่เคยแพ้อีกอาการแพ้ยาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางรายอาจช็อคและเสียชีวิตได้ ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจะซักถามประวัติการแพ้ยาทุกครั้งก่อนให้ยา โดยเฉพาะยาที่ทำให้เกิดการแพ้ได้บ่อยๆ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาในกลุ่มเพนนิซิลิน ซัลฟา ยาเตตร้าซัยคลิน ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน เป็นต้น นายแพทย์สุพรรณกล่าว *************** 6 กันยายน 2552


   
   


View 14    06/09/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ