สาธารณสุขทุ่มงบเกือบ 50,000 ล้านบาท เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการสาธารณสุขไทย จับมือภาคีเครือข่ายสุขภาพ และองค์กรปกครองท้องถิ่น พัฒนาสถานีอนามัย 4,500 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลอำเภอ ปรับกลยุทธ์การทำงานเจ้าหน้าที่ เน้นเชิงรุกงานส่งเสริมสุขภาพ หวังลดการเจ็บป่วยประชาชน ลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล เช้าวันนี้ (4 กันยายน 2552) ที่เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เปิด “มหกรรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล...จุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทย” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป้าหมาย 2,000 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลแม่ข่าย ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมประชุมกว่า 4,000 คน และมีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับหน่วยงานที่สนับสนุนประกอบด้วย สปสช. สสส. กระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยานและบรรยายพิเศษ นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าประชาชนไทยเจ็บป่วยมากขึ้น ระบบบริการส่วนใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการคือ การตั้งรับรักษาผู้ป่วย และการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังเจ็บป่วย ส่วนกลไกการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงและป้องกันโรค ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญและได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและคุ้มค่าต่อการลงทุนที่สุด และองค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ทุกประเทศดำเนินการ จะเป็นวิธีที่จะให้ระบบการสาธารณสุขของประเทศประสบผลสำเร็จ แต่ที่ผ่านมานี้ยังไม่มีประเทศใดประสบผลสำเร็จ ในส่วนของระบบสุขภาพไทย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2551 มีผู้ป่วยเข้าตรวจรักษาในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศที่แผนกผู้ป่วยนอก รวมกว่า 140 ล้านครั้ง เพิ่มจากปี 2550 ที่เข้ารับริการกว่า 130 ล้านครั้ง ส่วนผู้ป่วยพักรักษาในโรงพยาบาลปี 2551 จำนวน 9.4 ล้านครั้ง ในขณะที่ปี 2551 จำนวน 8.9 ล้านครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า โรคที่เกิดจากพฤติกรรมหรือโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองและปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นสาเหตุต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวนกว่า 1.35 ล้านครั้ง ทำให้การเข้ารับบริการต้องใช้เวลารอนาน ที่สำคัญแพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยน้อยลง ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านสุขภาพใหม่ โดยในปี 2552 ได้ปฏิรูปกลไกการทำงานของสถานีอนามัย ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดและครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศจำนวน 9,810 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 30,000 คน โดยพัฒนาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของระบบสาธารณสุขไทย ให้เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุก เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ โดยให้ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดและดูแลสุขภาพของตนเองและท้องถิ่น เพื่อลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งปรับปรุงบริการสุขภาพให้ ดีขึ้น สร้างความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการแก่ประชาชนในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก เป็นต้น นายวิทยา กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในตำบลครั้งนี้ ใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2552-2555 รุ่นแรกมีเป้าหมายจำนวน 4,500 แห่ง ใช้งบรวมทั้งหมดเกือบ 50,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งบจากกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สปสช. และสสส. รวม 30,877 ล้านบาทเศษ และงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล พ.ศ. 2553-2555 อีกจำนวน 14,973 ล้านบาท โดยจะปรับปรุงอาคารสถานที่ เครื่องมือแพทย์ และรถพยาบาลเพื่อใช้ส่งต่อผู้ป่วย เกือบ 1,000 คัน ทางด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะมี 3 ขนาด ตามจำนวนประชากรที่รับผิดชอบ ได้แก่ ขนาดเล็ก ดูแลประชากรไม่เกิน 3,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 5 คน ขนาดกลางดูแลประชากรไม่เกิน 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 7 คน และขนาดใหญ่ ดูแลประชากร มากกว่า 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 9-10 คน ในการปรับปรุงด้านสถานที่ จะต่อเติมชั้นล่างของสถานีอนามัยให้เป็นห้องตรวจรักษา จัดซื้อเครื่องมือแพทย์และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการให้บริการ มีเตียงนอนสังเกตอาการอย่างน้อย 3 เตียง มียาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกับโรงพยาบาล รวมทั้งติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์เชื่อมต่อกับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยปรึกษาการรักษากับแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่เป็นแม่ข่ายโดยตรง สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยว่าจะได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล และหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วยชีวิตและนำส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย หากเกินขีดความสามารถ มีระบบส่งตัวรักษาต่อในโรงพยาบาลแม่ข่ายทันที นายแพทย์ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในด้านการรักษาพยาบาล จะเพิ่มพยาบาลเวชปฏิบัติประจำทุกแห่ง ทำหน้าที่ตรวจรักษาโรคพื้นฐาน เช่น ปวดหัว ปวดท้อง แทนแพทย์ และมีแพทย์ บุคลากรด้านแพทย์แผนไทย เภสัชกร ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักสังคมสงเคราะห์ ไปร่วมให้บริการทั้งเต็มเวลาและบางเวลา ตามความจำเป็นและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มบุคลากรด้านอื่นๆ จากเดิมอีก 2-4 เท่าตัว หรือให้มีประมาณ 6-12 คน ทำงานร่วมกับ อสม.ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เชื่อมั่นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ในการพัฒนาครั้งนี้เป็นอันมาก ****************************************** 4 กันยายน 2552


   
   


View 12    04/09/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ