รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าการตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาชายวัย 28 ปี ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่เสียชีวิต แพทยสภาเตรียมสอบการรักษาของแพทย์วันที่ 31 สิงหาคม ก่อนส่งกองการประกอบโรคศิลปะหาข้อสรุปในวันที่ 3 กันยายนนี้ ว่าเกิดจากความบกพร่องระบบรักษาหรือไม่ และช่วยเจรจากับโรงพยาบาลผ่อนปรนค่ารักษาจนอยู่ในระดับที่ญาติสามารถจ่ายได้ ไม่หวั่นเชื้อไวรัสต้นแบบมีปัญหา พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาพัฒนาวัคซีนต่อให้สำเร็จ เพื่อให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนใช้เองได้ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีที่ญาติของนายพีรวีร์ ดวงสินกุลบดี อายุ 28 ปี ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง แต่รพ. 2 แห่งแรกกลับไม่ให้ยาต้านไวรัสโอเซลมิเวียร์ จนผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา และต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมกว่า 3 ล้านบาท ว่า ได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพคุยกับโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 3 แห่งและญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิต มีข้อสังเกตที่ต้องให้แพทยสภาไต่สวนเรื่องจรรยาแพทย์ เพราะมีข้อขัดแย้ง เช่น รพ.แห่งแรกปล่อยให้ผู้ป่วยกลับบ้านทั้ง ๆ ที่ญาติยืนยันว่ายังมีอาการหนักอยู่ ซึ่งแพทยสภาจะนัดไต่สวนเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 31 สิงหาคม 2552 จากนั้นในวันที่ 3 กันยายน 2552 กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะสอบเท็จจริงอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปว่าเป็นความบกพร่องในระบบการรักษาของสถานพยาบาลหรือไม่ แต่ที่น่าสังเกตก็คือทั้ง 3 โรงพยาบาลตรวจไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ช่วยเจรจากับโรงพยาบาลเอกชนแห่งสุดท้ายที่รับผู้ป่วยไว้จนผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งได้ผ่อนปรนให้อยู่ในระดับที่ญาติสามารถจ่ายได้ สำหรับกรณีการผลิตวัคซีน ที่มีข่าวว่าเชื้อไวรัสที่ได้จากรัสเซียมีการกลายพันธุ์ แต่องค์การเภสัชกรรมยังคงเดินหน้าทำต่อไปนั้น นายวิทยากล่าวว่า เป็นเรื่องของกระบวนการผลิตที่จะต้องมีการแก้ปัญหาและพัฒนาต่อไป ที่ผ่านมาไทยเสียโอกาสมานานมากที่จะเป็นผู้ผลิตที่ดี “ขณะนี้ทุกประเทศ ทั้งอินเดีย อินโดนีเซียซึ่งเคยมีความร่วมมือกับประเทศไทยตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว สามารถผลิตวัคซีนได้แล้ว เหลือแต่ประเทศไทยที่ยังต้องซื้อจากประเทศอื่นตลอดเวลา วันนี้ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พยายามให้กำลังใจและสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานที่จะผลิตคิดค้นและพยายามผลิตวัคซีนได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ซึ่งต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหากันต่อไป เพื่อให้วัคซีนที่ออกมาต้องผ่านการรับรองและแก้ปัญหาให้ได้” นายวิทยากล่าว นายวิทยา กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนการที่หลายฝ่ายเกรงว่าหากรอโรงงานวัคซีนที่กำลังจะก่อสร้างที่จังหวัดสระบุรี อาจทำให้ล่าช้าไม่ทันสถานการณ์นั้น ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้ติดต่อกับมหาวิทยาลัย ที่มีห้องปฏิบัติการและพร้อมให้ความร่วมมือในการผลิตวัคซีนเบื้องต้น เพิ่มจากที่ดำเนินการอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากร และในปี 2553 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตั้งงบประมาณในการสร้างห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตวัคซีน ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะเช่นกัน ************************************** 26 สิงหาคม 2552


   
   


View 15    25/08/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ