คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติสนับสนุนให้เร่งจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนนำร่อง เพื่อใช้ทดสอบทางคลินิก หากสำเร็จจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนใช้เองในประเทศ สร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางสุขภาพของคนไทย โดยมีแผนพัฒนาวัคซีน 5 ชนิด คือ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเจอี วัณโรค และวัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยักและตับอักเสบบี พร้อมผลักดันตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ประสานต่อเนื่อง วันนี้ (13 สิงหาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2552 ว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงทิศทางในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงของประเทศ เช่นเดียวกับการเตรียมพร้อมทางอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นการลงทุนเพื่อป้องกันโรคและสร้างสุขภาพ ที่ประหยัดกว่าการรักษาพยาบาล และควรที่จะสอดคล้องกับการเพิ่มกรอบงบประมาณเรื่องการวิจัยของรัฐบาล จากเดิมที่กำหนดไว้ ร้อยละ 0.2 ของจีดีพี ให้เป็นร้อยละ 1 ของจีดีพี เพื่อเพิ่มความสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยผลักดันเรื่องการวิจัยพัฒนาวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนนำร่อง (Pilot Plant) เพื่อการวิจัยทดสอบทางคลินิก และพัฒนาต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เพื่อผลิตใช้เองในประเทศและส่งออก ในเบื้องต้นมีวัคซีนที่อยู่ในแผนการพัฒนาของประเทศ 5 ชนิด ได้แก่ 1.วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาจากองค์การอนามัยโลกประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ตั้งแต่ 2550-2552 ขณะนี้กำลังพัฒนาวัคซีนต้นแบบชนิดเชื้อเป็นใช้พ่นเข้าทางจมูก ซึ่งจะทดสอบในอาสาสมัครโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณต้นเดือนกันยายน 2552 นี้ ขณะเดียวกันก็เร่งรัดโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระดับอุตสาหกรรม ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี งบประมาณ 1,400 ล้านบาท ให้เสร็จเร็วขึ้นจาก 6 ปี เป็น 4 ปี มีกำลังการผลิตปีละ 2 ล้านโดส สามารถขยายได้เป็นปีละ 10 ล้าน และหากเกิดการระบาดใหญ่จะเพิ่มกำลังผลิตได้ถึงปีละ 60 ล้านโดส คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2554 2.วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยวัคซีนที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะนี้นับว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุด ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกได้ทำการทบทวนและให้ความเห็นว่าเป็นวัคซีนต้นแบบที่ดี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีและมีความปลอดภัย 3.วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอีรุ่นใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ประสิทธิภาพดี และลดจำนวนเข็มในการฉีดลง 4.วัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยักและตับอักเสบบี ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อผลิตใช้ในประเทศ 5.วัคซีนป้องกันวัณโรค ทั้งวัคซีนบีซีจี (BCG) และวัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดใหม่ ซึ่งสภากาชาดไทย ต้องการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เพื่อผลิตวัคซีนระดับมาตรฐานสากล สามารถส่งขายในตลาดต่างประเทศได้ และรองรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดใหม่ด้วย นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการบริหารจัดการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ผลักดันการจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำหน้าที่ผลักดันการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรคเป็นผู้ประสานการดำเนินงานต่างๆ ไปพลางก่อน ส่วนเรื่องการจัดสร้างโรงงานผลิตวัคซีนนำร่อง การจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนบีซีจี วัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยักและตับอักเสบบี เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาในรายละเอียดและนำเสนอคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ภายใน 1-2 เดือนนี้ ********************************* 13 สิงหาคม 2552


   
   


View 10    13/08/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ