กระทรวงสาธารณสุข ประเมินโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่ม 3000 คน เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พบจำนวนพยาบาลที่ผลิตได้แม้จะไม่ถึงเป้า แต่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ โดยต้องมีตำแหน่งงานรองรับจะสามารถสร้างขวัญกำลังใจ และสันติสุขได้
นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันพระบรมราชชนก ได้ทำการวิจัยเพื่อประเมินโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มจำนวน 3,000 คน เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้หน่วยงานจากภายนอก ผลการวิจัยพบว่า ในด้านการแก้ไขปัญหาความขาดแคลน โครงการนี้จะสามารถผลิตได้จำนวนใกล้เคียงกับที่คาดหวังไว้ แม้ว่าอาจมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเรียนผ่านหลักสูตรได้ แต่จำนวนพยาบาลวิชาชีพที่ผลิตได้ จะยังสามารถแก้ไขความขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
สำหรับด้านการเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นย่อย ได้แก่ ประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ พบว่าการมีตำแหน่งงานรองรับ จะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเยาวชนและครอบครัวของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ประเด็นที่ 2 คือ สำนึกของอุดมการณ์รักบ้านเกิดและต้องการพัฒนาถิ่นกำเนิดตนเอง พบว่านอกจากจะขึ้นอยู่กับกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ที่นักศึกษาได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม จากครอบครัวและจากสถาบันทางสังคมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ยังขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมทางสังคม เช่น การได้รับโอกาสในการพัฒนา การได้รับการยอมรับจากสังคม และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ประเด็นสุดท้ายคือการสร้างความรักและความผูกพันให้กับผืนแผ่นดินไทย พบว่าเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเช่นเดียวกับสำนึกอุดมการณ์รักบ้านเกิด
นายแพทย์จักรธรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนของวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ที่เป็นแหล่งผลิตกำลังพยาบาลวิชาชีพ ได้มีการประเมินผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสอบขึ้นทะเบียนในประกอบวิชาชีพจากสภาการพยาบาล หลังสำเร็จการศึกษา ซึ่งนักศึกษาพยาบาลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันภาครัฐหรือเอกชน จะต้องผ่านการสอบขึ้นทะเบียนเพื่อประกอบวิชาชีพ พบว่าในปีนี้ วิทยาลัยพยาบาลที่มีผู้สำเร็จการศึกษาสอบขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพมากที่สุดได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง สอบได้ร้อยละ 78 วิทยาลัยที่มีค่าเฉลี่ยของผู้สอบผ่านทุกรายวิชา 3 ปีติดต่อกันสูงที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2552 ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยาร้อยละ 65
วิทยาลัยที่มีผู้สอบผ่านได้คะแนนเฉลี่ยทุกรายวิชาสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของผู้สอบทั้งประเทศ มี 7 แห่ง คือ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพุทธชินราช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพระปกเกล้า จันทบุรี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนพรัตน์วชิระ นอกจากนี้ ยังมีวิทยาลัยพยาบาลที่มีผู้สอบผ่านครบทุกคนในวิชาการพยาบาลมารดาและทารก การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ รวมทั้งสิ้นอีก 23 แห่ง จากทั้งหมด 29 แห่งด้วย
********************************* 25 กรกฎาคม 2552
View 15
25/07/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ