กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจพฤติกรรมเยาวชนที่สัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อ พบกินผักหรือผลไม้น้อยกว่ามาตรฐานกำหนดคือ 5 ส่วนต่อวัน ร้อยละ 59 แต่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 49 โดยเริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 12 ปี มีพฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับต่ำ ออกกำลังกายน้อย เพียงร้อยละ 25 ทำให้อ้วน และหันมาใช้วิธีลดน้ำหนักทางลัด อาทิ กินอาหารเสริม ลดมื้ออาหาร กินชาสมุนไพร ยาระบาย ใช้เครื่องนวดสลายไขมัน
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้คนไทยป่วยด้วยโรคจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าการติดเชื้อโรคหลายเท่าตัว โรคที่เป็นปัญหามากได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ซึ่งโรคเหล่านี้ใช้เวลาก่อตัวนานหลายปีกว่าจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็น มักจะเริ่มในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป จึงต้องเร่งสร้างพฤติกรรมที่ถูกต้องตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคในระยะยาว โดยได้ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ทำการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มเยาวชนผ่านทางคอมพิวเตอร์มือถือ ใน 5 เรื่อง ได้แก่ พฤติกรรมการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การป้องกันอุบัติเหตุจราจร พฤติกรรมการกินอาหารและการควบคุมน้ำหนัก การแสดงความรุนแรง และการออกกำลังกาย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนแก้ไขป้องกันอย่างรอบด้าน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ ดำเนินการในปี 2551ในโรงเรียน 21 จังหวัดทั่วประเทศ ในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาปีที่ 2 นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 และ 5 รวมทั้งหมด 43,693 คน ผลปรากฏว่าพฤติกรรมสุขภาพที่สัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อในภาพรวมที่พบมากที่สุดได้แก่ การกินผักหรือผลไม้น้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนด 5 ส่วนต่อวัน ร้อยละ 59 รองลงมาได้แก่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 49 โดยเริ่มดื่มอายุ 12 ปี ออกกำลังกายน้อย ร้อยละ 25 ใช้สารเสพติดร้อยละ 18 ที่นิยมใช้มาก 3 ชนิด คือ กัญชา กระท่อม และยาบ้า การแสดงความรุนแรงพบร้อยละ 10 และมีพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุจาจรอยู่ในระดับต่ำมาก เช่น สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 10-23 และมีนักเรียนร้อยละ 43 ที่บาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือ การกินอาหารและควบคุมน้ำหนัก พบว่าเยาวชนกินขนมกรุบกรอบ ดื่มน้ำอัดลมอาทิตย์ละ 2-4 วัน และกินอาหารฟาสต์ฟู้ดเฉลี่ยอาทิตย์ละ 1 วัน ทำให้มีน้ำหนักเกินและอ้วน โดยพบนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิง แต่นักเรียนหญิงจะพยายามลดน้ำหนักมากกว่านักเรียนชาย วิธีลดน้ำหนักที่ถูกต้องคือ การออกกำลังกาย มีเยาวชนใช้ร้อยละ 37 และใช้วิธีลดน้ำหนักทางลัด คือลดมื้ออาหารร้อยละ 27 กินอาหารเสริมหรือกินชาสมุนไพร ร้อยละ 9 ผู้ชายนิยมใช้มากกว่าหญิง กินยาลดน้ำหนักร้อยละ 7 ผู้หญิงจะใช้มากกว่าผู้ชาย ใช้เครื่องสลายไขมันและดูดไขมัน ร้อยละ 3 ผู้ชายจะใช้มากกว่าผู้หญิง
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะผักและผลไม้ ซึ่งมีวิตามินบำรุงสุขภาพ ทำให้ไม่ป่วยง่าย และมีเส้นใยช่วยในการขับถ่าย ส่งเสริมการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่เสพสารเสพติดหรือบุหรี่ รวมทั้งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นตัวทำลายสุขภาพ ทั้ง 3 เรื่องนี้ จะสามารถลดการเกิดโรคต่างๆ ได้ โดยได้มอบนโยบายให้หน่วยงานสาธารณสุขในสังกัดทั่วประเทศเร่งดำเนินการ รวมทั้งให้ อสม. เข้าไปช่วยในระดับหมู่บ้าน ชุมชนด้วย นายแพทย์สุพรรณ กล่าว
******************************** 26 เมษายน 2552
View 12
26/04/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ