สาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนให้ระวังภัยอาหารในหน้าร้อนและช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ โดยเฉพาะอาหาร 8 ชนิด ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ อาทิ อาหารปรุงจากกะทิ อาหารกล่อง อาหารทะเลสด ควรปรุงสุก หลีกเลี่ยงวิธีลวก พล่าสุกๆ ดิบๆ ชี้ผลการวิเคราะห์ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในปีนี้ พบป่วยแล้วกว่า 3 หมื่นราย เสียชีวิต 23 ราย โดย 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการกินอาหารและน้ำดื่มให้มากกว่าปกติ เพราะเป็นช่วงที่อุณหภูมิเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และพาหะนำโรค โดยเฉพาะในอาหาร 8 ชนิดที่ต้องใส่ใจความสะอาด เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคอหิวาต์และไข้ไทฟอยด์ ได้แก่ 1.อาหารปรุงด้วยกะทิ 2.ขนมจีน 3.อาหารทะเลสด 4. อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย ยำ พล่า 5.อาหารถุง/กล่อง/ห่อ 6.ส้มตำ 7.อาหารค้างคืน และ 8.น้ำดื่มและน้ำแข็ง ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สถิติโรคอุจจาระร่วงในปีที่ผ่านมาซึ่งมี 1 ล้านกว่าราย เสียชีวิต 56 ราย มักจะเกิดในผู้สูงอายุได้ประมาณร้อยละ 10 และเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณร้อยละ 38 ในรอบ 3เดือนของปี 2552 นี้มีรายงานป่วยแล้วกว่า 3 หมื่นราย เสียชีวิต 23 ราย กลุ่มที่ป่วยมากที่สุดเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบได้ถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากเด็กวัยนี้นอกจากจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำแล้ว ยังดูแลตัวเองไม่ได้ กินและหยิบอาหารเข้าปากแบบไร้เดียงสา โอกาสติดเชื้อจึงเกิดขึ้นง่าย ดังนั้นพ่อแม่ควรต้องดูแลเด็กใกล้ชิด ในการป้องกันไม่ให้ป่วย ขอแนะนำประชาชนยึดหลักปฏิบัติให้เป็นนิสัยคือ “กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง และต้องล้างมือเป็นประจำ” จะทำให้ทุกคนพ้นจากโรคระบบทางเดินอาหาร นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า อาหารปรุงด้วยกะทิ ควรกินเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ หากเหลือไม่ควรเก็บไว้เพราะจะบูดเน่าง่าย ส่วนเส้นขนมจีนแป้งหมักในหน้าร้อนมักจะเสียง่าย ต้องมั่นใจว่าไม่ค้างคืน และระวังผักสดที่กินกับขนมจีน ต้องล้างให้สะอาด ในกลุ่มของอาหารทะเลไม่ควรกินแบบลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะ กุ้ง หอย ปลาหมึก เช่นเดียวกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ ขอให้ปรุงสุก ส่วนประเภทอาหารถุง อาหารกล่องหรืออาหารห่อ ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว หลีกเลี่ยงกับข้าวที่ทำจากกะทิ ควรกินภายในไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง สำหรับส้มตำซึ่งเป็นอาหารยอดฮิตทุกฤดูกาล การกินส้มตำในหน้าร้อนต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ เพราะความไม่ปลอดภัยในส้มตำมีมากมาย อาทิ ปลาร้า ปูดองดิบหรือต้มไม่สุก มะละกอดิบ ผักดิบแกล้ม พริกขี้หนูที่ล้างไม่สะอาดหรือไม่ได้ล้างย่อมมีเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ กุ้งแห้งใส่สีและไม่ได้ล้าง ถั่วลิสงป่นอาจมีเชื้อราอะฟลาท๊อกซิน ก่อโรคมะเร็ง ครก ไม้ตีพริก และแม่ค้าที่ไม่สะอาด ขาดสุขนิสัยที่ดี ล้วนนำมาซึ่งสารพัดโรค สุดท้ายเรื่องน้ำดื่มและน้ำแข็ง หน้าร้อนคนมักจะดื่มน้ำมากกว่าปกติ หากดื่มน้ำบรรจุขวดขอให้มั่นใจว่ามี อย.รับรอง และเลือกขวดที่มีฝาปิดสนิท ไม่มีรอยเปิด ส่วนน้ำแข็งควรเลือกชนิดบรรจุถุงที่มีเครื่องหมาย อย. และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ควรนำอาหารอื่นไปแช่ในถังน้ำแข็งที่ให้ลูกค้ากิน เพราะจะทำให้น้ำแข็งปนเปื้อนเชื้อโรคได้ นายแพทย์ปราชญ์กล่าว ****************** 12 เมษายน 2552


   
   


View 11    12/04/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ