วันนี้ (6 ธันวาคม 2549) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์ปัญญา สอนคม ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมด้วยคณะกรรมการ ร่วมกันแถลงขั้นตอนการดำเนินการเพื่อตรวจสอบรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ว่า หน้าที่หลักของคณะกรรมการชุดนี้ คือตรวจสอบว่ารถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง จำนวน 232 คันที่ได้นั้น มีคุณลักษณะตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่ มีรายการใดบ้างที่ตรง และมีรายการใดที่ไม่ตรง รวมทั้งจะเกิดผลดีผลเสียในการใช้งานอย่างไร ซึ่งผลสรุปที่ได้จากการตรวจสอบ ยังสามารถใช้เป็นบทเรียนในการดำเนินการจัดหา กำหนดคุณลักษณะอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ สำหรับให้บริการประชาชนต่อไปในอนาคตได้ด้วย นายแพทย์ปัญญา กล่าวต่อว่า ตามหลักการแล้วควรจะต้องตรวจสอบรถให้ครบทุกคัน แต่เป็นเรื่องที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ใช้เวลานาน และโรงพยาบาลแต่ละแห่งจำเป็นต้องใช้รถให้บริการผู้ป่วย ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการตรวจรถจำนวนหนึ่ง แต่ให้สามารถเป็นตัวแทนของทั้งหมดได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติการผลิต จากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แนะนำให้สุ่มตัวอย่างโดยการจับฉลาก จำนวนร้อยละ 5 ของรถพยาบาลฉุกเฉินแต่ละงวด โดยการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินครั้งนี้ ได้แบ่งการส่งมอบรถเป็น 4 งวด จำนวน 31 , 65 , 65 และ 71 คัน เมื่อสุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 5 จะได้รถที่ต้องตรวจสอบของแต่ละงวด จำนวน 2 , 3 , 3 , และ 4 คันตามลำดับ รวม 12 คัน ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ถูกสุ่มตัวอย่าง จะต้องส่งมอบรถพยาบาลให้คณะกรรมการทำการตรวจสอบ ในวันที่ 7-8 ธันวาคม 2549 นี้ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ หากพบว่ารายการใดถูกต้อง รายการนั้นถือเป็นที่ยุติ และให้ผู้ใช้ดูแล หากพบผิดปกติในภายหลังก็สามารถแก้ไขได้ตามสัญญารับประกันจากผู้ขาย แต่หากรายการใดตรวจพบข้อผิดปกติ ก็จะต้องตรวจรายการนั้นทั้ง 232 คัน รวมทั้งจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางลึกของรายการนั้นโดยเฉพาะ ก่อนประมวลเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทราบต่อไป ด้านนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการสาธารณสุขนิเทศก์ กล่าวว่า ในการสุ่มตัวอย่างรถพยาบาลเพื่อทำการตรวจสอบครั้ง ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยานด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยรถพยาบาลฉุกเฉินที่ถูกสุ่มตัวอย่างมีดังนี้ งวดที่ 1 ร.พ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี และ ร.พ.บันนังสตา จ.ยะลา งวดที่ 2 ร.พ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ร.พ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร และ ร.พ.ย่านตาขาว จ.ตรัง งวดที่ 3 ร.พ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ร.พ.จุน จ.พะเยา และ ร.พ.บางระกำ จ.พิษณุโลก งวดที่ 4 ร.พ.หนองคาย จ.หนองคาย ร.พ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ร.พ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ และ ร.พ.พังงา จ.พังงา อนึ่ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ ตั้งขึ้นตามข้อแนะนำของ สตง. ประกอบด้วย นายแพทย์ปัญญา สอนคม อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทย์หญิงทิพย์วดี บำเพ็ญบุญ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นางปราณี เอกอรมัยผล ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายศักดิ์ชัย ขำเจริญ นักวิชาการพัสดุ 8 กรมทางหลวง นายชัยพันธ์ ธีระเกียรติกำจร เภสัชกร 8 กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ อย. นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการสาธารณสุขนิเทศก์ นาย ปิยะวัฒน์ ศิลปะรัศมี นิติกร 7 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายนรเทพ บุญเก็บ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ธันวาคม1/5 ************************************* 6 ธันวาคม 2549


   
   


View 9    06/12/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ