กระทรวงสาธารณสุขย้ำเตือนประชาชน ในช่วงสภาพอากาศหนาวเย็นระวัง 2 โรคอันตรายคือ ไข้หวัดใหญ่และปอดบวม หากป่วย ไอ มีไข้สูงเกิน 2 วัน กินยาลดไข้แล้วยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ขอให้พบแพทย์เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคปอดบวม ซึ่งมีอันตรายต่อชีวิต ในปี 2551 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 2 โรคเฉพาะช่วงหนาว 48,781 ราย เสียชีวิต 287 ราย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยมีความหนาวเย็นลง ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจกันมาก โรคที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงที่สภาพอากาศหนาว 2 โรคที่สำคัญคือ ไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ และมีอันตรายเฉียบพลันรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอดส์ เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องระมัดระวัง โดยสวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกาย โดยเฉพาะเวลากลางคืน ห่มผ้าห่มหนาๆ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคในช่วงฤดูหนาวปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550-กุมภาพันธ์ 2551 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมและโรคไข้หวัดใหญ่ รวม 48,781 ราย เสียชีวิต 287 ราย ผู้ป่วยและเสียชีวิตเกือบร้อยละ 90 เป็นโรคปอดบวม ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันโดยไอจามรดกัน หากอยู่ในพื้นที่ที่คนอยู่รวมกันหนาแน่นหรือในห้องแอร์ การแพร่เชื้อจะง่ายขึ้น อาการป่วยจะปรากฏหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน โดยมีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก ไอ อาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก มีความรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าดูแลตัวเองไม่ดีก็จะมีอาการรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ หรือปอดบวม ส่วนโรคปอดบวม เป็นโรคติดเชื้อที่ปอด มีความรุนแรง เกิดได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เป็นสาเหตุการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถึงร้อยละ 19 มากเป็นอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อทั้งหมด พบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว และพบในภาคเหนือมากที่สุด เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าพื้นที่อื่น โดยอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด แต่จะมีไข้สูงและมีอาการไอ ร่วมกับหายใจหอบเหนื่อย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ป่วยปีละมากกว่าแสนราย รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ การติดเชื้อเหมือนไข้หวัดใหญ่ ทางด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้พักผ่อนมากๆ ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ และพยายามกินอาหารให้เพียงพอ ควรเป็นอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นต้น ใช้วิธีลดไข้โดยการเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาและใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ไม่ควรกินยาแก้อักเสบเอง เพราะโรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ซึ่งอาจทำให้เชื้อดื้อยา การรักษายุ่งยากขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน หรือมีไข้สูงขึ้น ไอ หายใจหอบเหนื่อย ซึ่งเป็นสัญญานของโรคปอดบวม ควรรีบไปพบแพทย์ การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และปอดบวมที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวม ควรใช้ผ้าปิดปาก จมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม ป้องกันไม่ให้เชื้อที่อยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลายแพร่ไปสู่คนอื่นๆ ควรสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น **************** 14 มกราคม 2552


   
   


View 9    14/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ