อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้อาการเด็กหญิงมาลีที่สูงโย่งผิดปกติ ขณะอายุ 16 ปี เรียกว่า ไจแกนติซึม หรือเด็กร่างยักษ์ พบได้น้อยมาก เกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนที่มีหน้าที่กระตุ้นความเจริญเติบโตมากผิดปกติ เด็กอาจสูงได้ถึง 270 เซนติเมตร เหตุร้อยละ 90 เกิดจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ไม่ใช่มะเร็ง จากกรณีที่เด็กหญิงมาลี ดวงดี อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านปะเดา ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมองกดทับต่อมควบคุมการเจริญเติบโต ไม่สามารถควบคุมความเจริญเติบโตของร่างกายได้ ทำให้ร่างกายสูงใหญ่ผิดปกติ 212 เซนติเมตร น้ำหนัก 122 กิโลกรัม พ่อแม่ต้องนำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลรามาธิบดี การรักษาต้องฉีดยาควบคุมซึ่งมีราคาแพง ครอบครัวไม่มีเงินในการรักษา โดยยาดังกล่าวราคา 50,000 บาท ต่อเข็มต่อเดือน และต้องฉีดทั้งหมด 12 เข็ม รวม 1 ปี เป็นเงิน 600,000 บาท และเด็กหญิงมาลียังมีปัญหาในเรื่องหาเสื้อผ้าใส่ยากและสายตาไม่ดี ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (9 มกราคม 2551) เภสัชกรมานิตย์ อรุณากูร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 9 ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด ให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงมาลีแล้ว ซึ่งใช้สิทธิต่างด้าว ในขั้นต้นนี้ให้รับตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตราดก่อน เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการทั่วไป รวมทั้งตรวจวัดสายตา และจะพยายามหาทางช่วยเหลือ ส่วนเรื่องเสื้อผ้า ให้ประสานสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคที่เด็กหญิงมาลีเป็นนั้น เป็นโรคที่เรียกว่า ไจแกนติซึม (Gigantism) หรือเด็กร่างยักษ์ คือรูปร่างสูงใหญ่แต่สมส่วน โรคนี้พบได้น้อยมาก มีสาเหตุจากความผิดปกติของโกรท ฮอร์โมน (Growth hormone) ซึ่งหลั่งมาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าชื่อว่า พิทูอิทารี่ แกลนด์ (Pituitary Gland) ร่างกายสร้างฮอร์โมนนี้ตลอดชีวิต เป็นฮอร์โมนที่มีความจำเป็น เนื่องจากทำหน้าที่ควบคุมและกระตุ้นการเจริญเติบโตของของกล้ามเนื้อ กระดูกและเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ให้เป็นไปตามปกติ โดยความผิดปกติ ร้อยละ 90 เกิดจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง มักเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่ใช่มะเร็ง หากต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนชนิดนี้มากหรือน้อยเกินไป จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ หากเผลิตมากเกินไปและเกิดในเด็ก ก็จะมีอาการเช่นเดียวกับเด็กหญิงมาลี คือรูปร่างสูงใหญ่ อาจสูงได้ถึง 270 เซนติเมตร แต่หากเกิดตอนโตเต็มที่แล้ว คือหลังอายุ 18 ปี จะทำให้กระดูกใบหน้า กระดูกนิ้วมือ นิ้วเท้า โตผิดปกติ ใบหน้าเป็นรูปสามเหลี่ยม หน้าจั่ว จมูกใหญ่ กระดูกแก้มโหนก เรียกว่า อะโครเมกาลี่ (Acromegaly) แต่หากฮอร์โมนชนิดนี้มีน้อยผิดปกติตั้งแต่เด็ก จะทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโต เตี้ย แคระแกร็น เป็นคนแคระ นายแพทย์เรวัต กล่าวต่อว่า การรักษาทำได้ 3 วิธี คือ 1.รักษาด้วยยา มีทั้งกินและฉีด ยากินคือ บรอมโมคริบตีน (Bromocriptine) ทำให้ก้อนเนื้องอกเล็กลง อาการต่างๆ ก็จะดีขึ้น ได้ผลประมาณร้อยละ 40 ส่วนยาฉีดต้องฉีดทุก 8 ชั่วโมง และต้องฉีดต่อเนื่องระยะยาว 2.รักษาโดยการผ่าตัดสมองผ่านทางช่องจมูก ซึ่งมักจะทำหลังจากที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล หรือมีปัญหาก้อนเนื้อกดทับประสาทตา วิธีนี้สามารถทำได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางคือ สถาบันประสาทวิทยา สังกัดกรมการการแพทย์ วิธีนี้ได้ผลดี โรคแทรกซ้อนต่ำ 3.รักษาโดยการฉายรังสี เพื่อให้ก้อนเนื้องอกยุบ ซึ่งกรณีของเด็กหญิงมาลีนั้น มีทางรักษาได้ จะให้สถาบันประสาทวิทยาประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราดต่อไป เพื่อวางแผนรักษาร่วมกัน ***************************************9 มกราคม 2552


   
   


View 8    09/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ