อย เตือน พอตเค เสพถึงตายขายติดคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 36 View
- อ่านต่อ
กรมวิทย์ฯ บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด และศูนย์การดูแลผู้ป่วยโรคหายาก พัฒนาศักยภาพบุคลากร
และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรคในระดับประเทศ
วันนี้ (23 พฤษภาคม 2567) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนาทางวิชาการ “ผลการดำเนินงานขยายการคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรค ภายใต้สิทธิประโยชน์จาก 13 เขตสุขภาพ” โดยมี นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา และมี ดร.ปนัดดา เทพอัคศร ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นางหรรษา ไทยศรี หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การดูแลผู้ป่วยโรคหายาก และเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 60 คน โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา นายกสมาคมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นไทย บรรยายเรื่อง แนวทางปฏิบัติและข้อพึงระวังในการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด ต่อด้วยเสวนาวิชาการ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์และวิธีปฏิบัติที่ดี ร่วมระดมสมองเพื่อวางแผนปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดในระดับประเทศ สนับสนุนนโยบายการควบคุมและป้องกันโรคเพื่อคุณภาพชิวิตที่ดีของทารกแรกเกิด
นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายขยายการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรค โดยเพิ่มการคัดกรองกลุ่มโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก เรียกโดยย่อว่า IEM และกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์ ทารกไทยแรกเกิดทุกรายจะได้รับการคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดและเพิ่มการคัดกรองกลุ่มโรค IEM จำนวน 40 โรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดในระดับประเทศ ได้รับมอบหมายให้เพิ่มหน่วยตรวจคัดกรองให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม จึงได้พัฒนาศักยภาพเครือข่ายห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนกลาง คือ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฏร์ธานี ร่วมเป็นหน่วยตรวจคัดกรองและเปิดให้บริการในเขตสุขภาพที่ 1 3 6 10 11 และ 13 ตั้งแต่ สิงหาคม 2566
นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยตรวจคัดกรอง รวม 10 แห่ง และศูนย์การดูแลผู้ป่วยโรคหายาก 7 แห่ง ที่ให้บริการครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ ซึ่งมีความแตกต่างทั้งด้านเทคนิควิธีวิเคราะห์ ชุดน้ำยา การแปลผล รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ภายหลังการดำเนินงานควรมีกลไกในการควบคุมกำกับติดตามและประเมินผล ในปี 2567 กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายขับเคลื่อนส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อให้ทารกไทยแรกเกิดได้รับการตรวจคัดกรองโรคหายาก IEM 40 โรค ได้มากกว่าร้อยละ 95 ณ เดือนกันยายน 2567 โดยมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นเจ้าภาพรวบรวมข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ
“เป้าหมายหลักของการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดคือ “ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย ผลการรักษาดี สติปัญญาดี” ทารกที่มีความเสี่ยงต่อภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด ควรได้รับการรักษาภายในอายุ 14 วัน กลุ่มโรค IEM ควรได้รับการรักษาภายในอายุ 7 วัน เพื่อลดความเจ็บป่วยรุนแรง ลดความพิการถาวรและการเสียชีวิตในวัยทารก การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดมีความคุ้มค่า ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาของประเทศกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0-2951-0000 ต่อ 99227, 99297 หรือ 090-1976476-7 และ 084-4382279” นายแพทย์บัลลังก์ กล่าว