รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย พระสงฆ์ไทยร้อยละ 29 อาพาธจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งความดัน ไขมัน เบาหวาน เชิญชวนพุทธศาสนิกชนเลือกเมนูชูสุขภาพ ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ได้ทั้งบุญจากการใส่บาตรและบุญจากการช่วยลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้กับพระสงฆ์ ช่วยให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดี เหมือนได้แต้มบุญคูณสอง 

               วันนี้ (20 พฤษภาคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีตักบาตรอาหารสุขภาพ เนื่องในวันวิสาขบูชา “แต้มบุญคูณสอง เลือกเมนูชูสุขภาพแด่พระสงฆ์” และกล่าวว่า ข้อมูลการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศของกรมการแพทย์ จำนวน 252,851 รูป จาก 41,142 วัด พบว่า พระสงฆ์ ร้อยละ 19 มีภาวะเสี่ยง และร้อยละ 29 มีภาวะอาพาธ โดยโรคที่พบมากสุด 3 อันดับแรก คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการฉันอาหารที่มีผู้นำมาถวายซึ่งไม่สามารถเลือกได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการเลือกเมนูชูสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม สำหรับใส่บาตรพระสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันมีร้านเมนูชูสุขภาพได้รับการรับรองและมีป้ายสัญลักษณ์อยู่ทั่วประเทศ จำนวน 4,080 ร้าน 10,585 เมนู 

           “นอกจากการเผยแพร่ศาสนา พระสงฆ์ยังเป็นแกนนำสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลสร้างความรอบรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ให้ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อนและมีสุขภาพที่ดีได้ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกคนเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม สำหรับใส่บาตรพระสงฆ์ ซึ่งนอกจากจะได้บุญจากการใส่บาตรแล้ว ยังได้บุญจากการช่วยลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้กับพระสงฆ์ ให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดี เหมือนได้แต้มบุญคูณสอง” นายสมศักดิ์ กล่าว

          ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมนูชูสุขภาพสำหรับทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ประกอบด้วย กลุ่มข้าว-แป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี เน้นข้าวกล้อง กลุ่มผักหลากหลายสี กลุ่มผลไม้รสไม่หวานจัด กลุ่มเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไม่ผ่านการแปรรูป และกลุ่มนม เน้นเป็นนมรสจืดหรือนมพร่องมันเนย เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยอาหารที่ปรุงนั้นต้องไม่มีรสหวานจัด มันจัด และเค็มจัด เน้นการต้ม นึ่ง อบ หรือทำเป็นน้ำพริก ควรมีผักสดและผลไม้สดด้วยทุกครั้ง และต้องเป็นอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่เก็บไว้นาน หากเป็นการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ควรเป็นข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ อาหารกระป๋องต้องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบ รั่วหรือเป็นสนิม และฉลากสินค้าต้องมีเครื่องหมาย อย. ที่สำคัญเป็นสินค้าใหม่ โดยสังเกต วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง ควรสังเกตฉลากโภชนาการหรือสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ส่วนน้ำปานะควรเลือกเครื่องดื่มสมุนไพรหรือเครื่องดื่มที่หวานน้อยหรือไม่มีน้ำตาล 

                                                                                     ****************** 20 พฤษภาคม 2567
 



   
   


View 1049    20/05/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ