วานนี้ (14 พฤษภาคม 2567) แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่ศึกษารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพ Health station ณ สถานีสุขภาพชุมชนหลักเมือง ตำบลในเมือง และวัดทุ่งโพธิ์ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีแพทย์หญิงทิพา ไกรลาศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา คณะผู้บริหารของกรมอนามัยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ สำนักวัฒนธรรม นายกเทศมนตรีตำบลอิสาณ เครือข่ายวัดส่งเสริมสุขภาพ  อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชนในชุมชน ให้การต้อนรับ

           แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ถือเป็นเมือง Sport City ที่ชูการกีฬาขึ้นมาเป็นจุดเด่น และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลสุขภาพ และยังได้จัดตั้ง Health station เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ในการดูแลสุขภาพ เข้าถึงบริการเบื้องต้น โดยในอนาคตหวังให้ประชาชนลดความเสี่ยงเรื่องโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสถานีสุขภาพ เป็นสถานที่ใช้สำหรับให้บริการตรวจสุขภาพด้วยตนเองของประชาชนทุกกลุ่มวัย ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ตลอดเวลาเมื่อมีความต้องการตรวจเช็คสุขภาพของตนเอง และเป็นช่องทางในการสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพผ่าน Platform Digital โดยจะให้บริการในการตรวจวัดดัชนีมวลกาย (BMI) ความดันโลหิต ตรวจวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือและคลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะ ตรวจหาค่าน้ำตาลปลายนิ้ว เพื่อให้ประชาชนปรับพฤติกรรมสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม กรมอนามัยเห็นถึงความสำคัญ จึงได้ลงพื้นที่สถานีสุขภาพชุมชนหลักเมือง ตำบลในเมือง และ วัดทุ่งโพธิ์ ซึ่งเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของสถานีสุขภาพ

           แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวต่อไปว่า Health station มีขั้นตอนการดำเนินการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ดังนี้ 1) Scan QR code R9 Health station ลงข้อมูลสุขภาพตนเอง และบันทึกข้อมูลใน Application Health station หวังผลให้ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยมี อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทำให้ในระยะเริ่มต้น และ 2) เจ้าหน้าที่ปฐมภูมิ จัดการสุขภาพตามปัญหาสุขภาพหลังการคัดกรอง กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย โดยกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วย ได้รับการจัดการสุขภาพด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และส่งต่อให้ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น ตามกระบวนการของหมอ 2 และ หมอ 3 เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลสามารถสร้างความรอบรู้ให้ประชาชนรู้สถานะสุขภาพของตนเอง และสามารถเข้าถึง เข้าใจ ตัดสินใจเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม    

             “ทั้งนี้ ผลตอบรับจากประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ พบว่า ประชาชนเข้าถึง สถานีสุขภาพชุมชนหลักเมือง ในปี 2567 จำนวน 311 คน พบเสี่ยงความดันโลหิตสูง 12 คน เสี่ยงเบาหวาน 33 คน และ BMI เกิน 183 คน โดยผลสะท้อนการดูแล พบว่าลดระยะเวลาการรอคอย ควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้ดี ลดเวลา อสม.ในการคัดกรอง ช่วยเหลือและบริหารเวลาได้ ทำให้การจัดบริการในคลินิก NCD ปฐมภูมิ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินงาน Health station เป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ และจังหวัดบุรีรัมย์ได้วางนโยบายขยายผลไปสู่ศาสนสถาน โรงเรียนและสถานประกอบการ ต่อไป เพื่อสนับสนุนนโยบาย Sport city ของจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ อธิบดีกรมอนามัยได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกุฎิชีวาภิบาล และมอบป้าย HAS แก่วัดทุ่งโพธิ์ นอกจากนี้ได้มอบป้าย SAN แก่ร้านตำกะเทย ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ กรมอนามัยได้สนับสนุนสื่อชุดความรู้ อุปกรณ์ออกกำลังกาย เพื่อให้พื้นที่ใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนในชุมชนต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

กรมอนามัย / 15 พฤษภาคม 2567



   
   


View 182    15/05/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ