วานนี้ (13 พฤษภาคม 2567) แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย แพทย์หญิงทิพา ไกรลาศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา และคณะผู้บริหารของกรมอนามัยร่วมลงพื้นที่ศึกษาดูงาน โรงเรียนเบาหวานวิทยา อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายแพทย์อุดมอัศวุตมางกุร สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 9 นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ชัชวาล ลีลาเจริญพร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเบาหวานวิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย นายศิวะเสก สินโทรัมย์ นายอำเภอพิมาย นายประดิษฐ์ เกิดสุข สาธารณสุขอำเภอพิมาย นางสาววีราภรณ์ ภัทรวรานนท์ ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอพิมาย พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และเครือข่ายโรงเรียนเบาหวานวิทยา ร่วมต้อนรับ

           แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีนโยบายในการส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี ด้วยการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ซึ่งประเทศไทยพบประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 1 ใน 4 ป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง หรือทั้ง 2 โรค ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมทั้งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศ สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีอัตราป่วยเบาหวานรายใหม่ 609.57 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าภาพรวมของเขตสุขภาพที่ 9 อยู่ที่ 587.85 ต่อประชากรแสนคน และสูงภาพรวมประเทศ 522.52 ต่อประชากรแสนคน และสอดคล้องกับข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของคนไทย ปี 2566-2567 พบว่า ประชากรในจังหวัดนครราชสีมา มีการดื่มเครื่องดื่มรสหวานเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 65.19 เป็นร้อยละ 83.56 การเติมเครื่องปรุงรสเค็มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 60.00 เป็นร้อยละ 73.36 และพบมีการออกกำลังกายน้อยลง จากร้อยละ 73.27 เหลือร้อยละ 70.93 ซึ่งเป็นพฤติกรรมนำไปสู่การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

            ทางด้าน แพทย์หญิงทิพา ไกรลาศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 มีหลายโครงการฯ แต่ที่ประสบความสำเร็จและเห็นชัดเจน คือ โรงเรียนเบาหวานวิทยา ซึ่งมีอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาเป็นต้นแบบ เริ่มจัดตั้งโรงเรียนเบาหวานวิทยาขึ้น ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อเป็นสถานที่ให้การศึกษาและดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวานซึ่งดำเนินการด้วย 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรกลุ่มป่วย และหลักสูตรอนุบาลเบาหวาน เน้นการให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคและลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในชุมชน และสร้างความรอบรู้ตามหลักสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) การเข้าถึง เข้าใจ โต้ตอบซักถามและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากหลักสูตร 14 สัปดาห์ ผ่าน 5 ฐานการเรียนรู้ คือ 1) การเรียนรู้ตนเอง/รับรู้ตนเอง การตรวจสุขภาพตนเองและการแปลผล BODY Composition ซึ่งจะทำให้รู้สุขภาพของตนเอง 2) การรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน โดยใช้หลักการคำนวณคาร์โบไฮเดรทที่เป็นสารอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลซึ่งให้พลังงาน และวางแผนการกินต่อวัน 3) การออกแบบการปรับเปลี่ยนสุขภาพตนเอง โดยใช้หลักของอาหารพร่องแป้ง (Low Carb Diet) หรือการอดอาหารเป็นช่วงๆ (IF) 4) การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่เหมาะสม และ 5) การเลือกเป้าหมายที่ชอบและเหมาะสมกับตนเอง ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงใช้ปัญหาความเจ็บป่วยของผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง ออกแบบตามความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน ซึ่งเป็นการบอกต่อโดยการเป็นต้นแบบ

            “ปัจจุบัน จังหวัดนครราชสีมาได้มีโรงเรียนเบาหวานวิทยาครบทั้ง 32 อำเภอ ความสำเร็จล่าสุด คือ มีนักเรียนสามารถลดระดับน้ำตาลเข้าสู่ภาวะปกติ คือ ต่ำกว่า 6.5 ติดต่อกันนาน 3 เดือน ส่งผลให้นักเรียนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถนำไปบอกต่อคนในครอบครัวได้ ไม่เครียดเรื่องการกินยา สุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมายังเตรียมขยายการจัดตั้งโรงเรียนเบาหวานวิทยานครชัยบุรินทร์รวมทั้ง พัฒนาสู่วิทยาครูเบาหวานอำเภอพิมายเพื่อขยายผลการดำเนินงานต่อไป” ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กล่าว

***

กรมอนามัย / 14 พฤษภาคม 2567



   
   


View 147    14/05/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ