อย. ย้ำ! ซื้อเครื่อง CPAP ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 22 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ความร้อนของประเทศไทยจากกรมอุตุนิยมวิทยา ในวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2567 พบว่า ภาคเหนือ มีอุณหภูมิสูงสุด 40-44 องศาเซลเซียส รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิสูงสุด 42-44 องศาเซลเซียส พบผู้เสียชีวิต 1 ราย มีผู้ป่วยสงสัย โรค Heat Stroke อีก 5 ราย เฝ้าระวังที่โรงพยาบาลแพร่ของเขตสุขภาพที่ 1 แนะประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ดูแลและป้องกันตนเองจากความร้อน
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ความร้อนประเทศไทยจากกรมอุตุนิยมวิทยา ในวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2567 พบว่า ค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึกได้ จำนวน 7 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตราด ชลบุรี จันทบุรีที่มีค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตรายมาก (สีแดง) ซึ่งคาดว่าสภาพอากาศร้อนจัดมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้เจ็บป่วยและอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาทางเว็บไซต์ http://www.rnd.tmd.go.th/heatindexanalysis/ และ Facebook กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง หากค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (สีส้ม) (42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส) ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ดูแลไม่ให้ทารกและเด็กเล็กอยู่ในรถที่จอดตากแดด ผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาให้พร้อม และดื่มน้ำสะอาดๆ ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพตนเอง
“ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน (กลุ่มโรค Heat Stroke) ในช่วงปี 2562 – 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตสะสม 131 คน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี และพบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากนี้ในปี 2566 กรมอนามัยยังได้ติดตามเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนโดยพบว่าอาการเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ปวดศีรษะ ท้องผูก เป็นตะคริวตามขา แขนหรือท้อง รวมถึง ยังพบพฤติกรรมเสี่ยงจากความร้อน เช่น ไม่ได้เช็คพยากรณ์อากาศ ก่อนออกจากบ้าน อยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ไม่ดีหรือไม่มีเครื่องปรับอากาศ หลังจากทำกิจกรรมกลางแจ้งไม่ได้อาบน้ำเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคเหนือ อุณหภูมิสูงสุด 44.1 องศาเซลเซียส ที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ รองลงมา 43.6 องศาเซลเซียส ที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และ 43.5 ที่อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยโรงพยาบาลแพร่ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 สงสัย โรค Heat Stroke จำนวน 5 ราย ขณะนี้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 1 ราย ขอให้ประชาชนสังเกตอาการเสี่ยงจากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้แก่ อุณหภูมิแกนกลางร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังแดงร้อน ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ สับสน มึนงง คลื่นไส้หรืออาเจียน ความรู้สึกตัวของร่างกายเปลี่ยนไป หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
“ทั้งนี้ ประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเองเพื่อลดความเสี่ยงด้านจากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) โดยดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หรือก่อนออกจากบ้าน ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด นำน้ำดื่มติดตัว และทาครีมกันแดดเป็นประจำ หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง และแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ประชาชนควรอยู่ในอาคาร หรือบ้านพัก ให้เปิดหน้าต่าง และพัดลม หากมีเครื่องปรับอากาศให้เปิดร่วมกับเปิดพัดลม ให้ส่าย เพื่อกระจายอากาศ หากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรกให้รีบปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669” ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 1 กล่าว
***
กรมอนามัย / 30 เมษายน 2567