วันนี้ (27 เมษายน 2567) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เกิดก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลในพื้นที่ของโรงงานน้ำแข็งบ้านติง ถนนสฤษดิ์ ซอย 2 ตำบลสะบารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี จากรายงานข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พบว่าเหตุการณ์แอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานน้ำแข็งดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงมากนัก มีเพียงพนักงานโรงงานและชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับโรงงาน รู้สึกได้ถึงกลิ่นก๊าซแอมโมเนีย แต่ไม่พบว่ามีอาการแสบตา แสบจมูก หรืออาการอื่นที่รุนแรง เนื่องจากหน่วยงานในพื้นที่สามารถควบคุมการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียได้อย่างรวดเร็ว และแอมโมเนียรั่วไหลออกมามีปริมาณน้อย จึงไม่เกิดผลกระทบที่รุนแรง
 

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวได้หยุดผลิตน้ำแข็งเป็นการชั่วคราวแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยวิศวกรและตรวจสอบระบบการผลิตน้ำแข็งให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ได้มีการสื่อสารแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบ แนะนำการดูแลปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยลดความเสี่ยงสุขภาพ

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ได้มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ประสานงานและลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด โรงพยาบาล และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ ทำการสำรวจ เฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ จากข้อเท็จจริงในเบื้องต้นพบว่า โรงงานน้ำแข็งดังกล่าวได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม จากการตรวจสอบสาเหตุการรั่วไหล พบว่า เกิดก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลบริเวณของเส้นท่อ และบริเวณจุดที่มีการรั่ว มีภาชนะรองรับไว้ จึงไม่มีการปนเปื้อนของสารแอมโมเนียปนเปื้อนมากับน้ำ หรือไหลลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ระบบประปาชุมชน หรือประปาหมู่บ้าน    ทั้งนี้ ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ได้กำชับและให้คำแนะนำเพิ่มเติมถึงมาตรการในการควบคุมป้องกันการปนเปื้อนสารแอมโมเนียสู่สิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำสาธารณะ หากมีการรั่วไหลซ้ำหรือการรั่วไหลในปริมาณมากขึ้น

 “อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในช่วงนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น ความต้องการน้ำแข็งของประชาชนมากขึ้น ทำให้โรงงานผลิตน้ำแข็งเร่งผลิตน้ำแข็งให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการเร่งผลิต ประกอบกับอุปกรณ์ เครื่องจักร มีความเสื่อมสภาพและอาจผิดปกติได้ สถานประกอบกิจการจึงควรตรวจสอบระบบการผลิตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดภาวะฉุกเฉินจากกรณีสารเคมีรั่วไหลดังกล่าว และขอความร่วมมือหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นเร่งเข้าตรวจสอบการประกอบกิจการ เพื่อประเมินความปลอดภัยความเสี่ยงจากความเสียหายของกระบวนการผลิตของสถานประกอบกิจการดังกล่าวภายใต้กลไกการควบคุม กำกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และต้องครอบคลุมกิจการเสี่ยงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***           

กรมอนามัย / 27 เมษายน 2567



   
   


View 136    27/04/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ