อย. ย้ำ! ซื้อเครื่อง CPAP ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 23 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดงานรณรงค์วันมาลาเรียโลก ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วนเร่งกำจัดไข้มาลาเรียให้หมดไป หรือเป็น 0 ภายในปี 2569 โดยทุกปีองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนด ให้วันที่ 25 เมษายน เป็นวันมาลาเรียโลก (World Malaria Day) เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกประเทศ ตระหนักถึงภาระโรคที่เกิดจากโรคไข้มาลาเรีย และให้ความสำคัญกับการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
วันนี้ (25 เมษายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์วันมาลาเรียโลก 2567 ณ โถงชั้น 1 อาคาร 3 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แนวคิด Zero indigenous malaria is possible. “กำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไป ประเทศไทยทำได้” โดยมีกิจกรรมสำคัญ ดังต่อไปนี้ เสวนาแนวทางในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรีย การประกาศรับรองจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรีย ประจำปี 2566 และนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคไข้มาลาเรียในแง่มุมต่าง ๆ
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโรคไข้มาลาเรียอยู่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก ตามที่ได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรีย พ.ศ. 2560-2569 โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) Asia Pacific Leaders Malaria Alliance (APLMA) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UCSF) รวมถึงองค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทำให้ประเทศไทยมีจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรีย จำนวนทั้งสิ้น 49 จังหวัด โดยมีเขตสุขภาพที่ 4, 7, 8 และ 13 เป็นพื้นที่ที่มีจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรียทั้งเขตสุขภาพ และยังคงดำเนินมาตรการป้องกันการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ เน้นการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมทั้งการเฝ้าระวังโรคและการเตรียมความพร้อมที่เกี่ยวข้อง เพื่อคงไว้ซึ่งสถานะจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรีย ในปีนี้ มี 3 จังหวัดที่ผ่านการประเมินรับรองจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรีย ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี ระยอง และสกลนคร ซึ่งจะเข้ารับประกาศนียบัตรรับรองจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรีย ส่วนจังหวัดที่ยังคงมีการระบาด เน้นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และขยายการเข้าถึงบริการตรวจรักษาในชุมชน เพื่อควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวให้เข้าสู่ภาวะปกติ
สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่เดือนมกราคม-ปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 2,913 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกัน จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ตาก 1,671 ราย แม่ฮ่องสอน 308 ราย กาญจนบุรี 251 ราย ระนอง 187 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 174 ราย โดยพบในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 74 ประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ ร้อยละ 41 เป็นผู้ป่วยต่างชาติ ร้อยละ 60
“จากการประเมินความเสี่ยงการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย พบว่ายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องเร่งรัดมาตรการ 1-3-7 โดย แจ้งเตือนเมื่อพบผู้ป่วยภายใน 1 วัน สอบประวัติเพื่อระบุแหล่งแพร่เชื้อภายใน 3 วัน และตอบโต้สถานการณ์ภายใน 7 วัน พร้อมทั้งควบคุมยุงพาหะนำโรคโดยเฉพาะพื้นที่ระบาด และเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และต้องกินยาให้ครบ ป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำ” นายแพทย์ธงชัย กล่าว
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค มักพบในบริเวณป่าเขา สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ และออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง จึงขอแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ป้องกันตนเองจากยุงกัด ตามเวลาที่ยุงออกหากิน หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่ป่าเขา ขอให้ป้องกันตนเองจากยุงกัด และสังเกตอาการ ประมาณ 10-14 วัน หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้มาลาเรีย ให้รีบไปพบแพทย์ในสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติเข้าป่าหรือไปบริเวณที่เป็นพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว หากล่าช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง อาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”
******************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 25 เมษายน 2567