สธ.เผยยอดผู้ป่วยจากพิษน้ำท่วมจนถึงขณะนี้พุ่งขึ้นกว่า 7 แสนราย คิดฆ่าตัวตาย 38 ราย
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นเวลาเกือบ 90 วัน มีผู้เจ็บป่วยทั้งหมด 720,000 กว่าราย พบโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด รองลงมาคือผื่นคัน ไม่มีโรคระบาดรุนแรง ส่วนด้านสุขภาพจิต ผลการประเมินล่าสุดใน 15 จังหวัด พบผู้ประสบภัยกว่าครึ่ง เกิดบาดแผลทางใจ ในจำนวนนี้ 38 ราย มีความคิดฆ่าตัวตาย ปรับแผนดูสุขภาพจิตต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าของการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า ล่าสุดนี้ยังเหลือจังหวัดที่มีน้ำท่วมขังอีก 13 จังหวัด โดยยังมี3 จังหวัด ที่ระดับสถานการณ์รุนแรง ได้แก่ นนทบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการผู้ประสบภัยทุกวัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยและฟื้นฟูสุขภาพจิต ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปตามหมู่บ้านต่างๆ วันละกว่า 100 ทีม มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 5,000 ราย ผลสรุปในรอบเกือบ 90 วัน มีประชาชนเจ็บป่วยและได้รับการรักษารวมทั้งหมด 721,550 ราย โรคที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า จำนวน 304,395 ราย หรือร้อยละ 42 รองลงมาได้แก่ผื่นคันจำนวน 95,196 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 และไข้หวัด จำนวน 80,657 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ส่วนที่เหลือพบโรคตาแดง และโรคอุจจาระร่วงทั่วๆไป เฉลี่ยร้อยละ 3 สามารถควบคุมโรคได้ทั้งหมด ไม่มีการระบาดแต่อย่างใด
สำหรับผลการฟื้นฟูสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตได้ส่งหน่วยจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ออกให้บริการประชาชนทุกวัน ขณะนี้ได้ให้บริการไปแล้ว 6,835 ราย และได้ทำการประเมินสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยจำนวน 6,125 คน ใน 15 จังหวัด ได้แก่ตาก น่าน อ่างทอง ปราจีนบุรี นนทบุรี พิจิตร พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท เชียงใหม่ ชัยภูมิ สิงห์บุรี ลพบุรี และเลย พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิต 970 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 ของผู้ประสบภัยที่ประเมินทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นโรคพีทีเอสดี (PTSD)หรือที่เรียกว่าโรคบาดแผลทางใจ คือนอนไม่หลับ หวาดผวา กลัวเหตุการณ์จะเกิดซ้ำอีก ซึ่งต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างต่ำ 3 เดือน จำนวน 538 ราย หรือร้อยละ 55 ของผู้ที่มีปัญหา และมี 38 ราย หรือร้อยละ 4 ที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เนื่องจากสูญเสียทรัพย์สิน ได้ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด โดยกรมสุขภาพจิตจะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ให้การดูแลอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก 1 ปี
กลุ่มที่ 2 ได้แก่กลุ่มฟื้นฟูสุขาภิบาล ป้องกันโรคระบาดในพื้นที่น้ำลด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้พ่นสารอีเอ็ม(EM) เพื่อลดกลิ่นเน่าเหม็นของน้ำขัง การกำจัดขยะมูลฝอย ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู การพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ไม่ให้วางไข่ และกำจัดไข่แมลงวัน เพื่อลดปริมาณแมลงวันใหม่มากที่สุด เนื่องจากแมลงวันเป็นตัวการแพร่โรคอุจจารระร่วง รวมทั้งการล้างบ่อใส่คลอรีนฆ่าเชื้อในน้ำให้สะอาดปลอดภัย การดูดล้างส้วมให้ใช้การได้ ดำเนินการโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับกรมอนามัย กรมคบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งผลจากการประเมินพบว่าทุกพื้นที่ขณะนี้ยังไม่มีโรคระบาดใดๆ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
พฤศจิกายน5/4 ******************************** 19 พฤศจิกายน 2549
View 15
19/11/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ