สธ.ชี้ภัยอุบัติเหตุจราจรรุนแรงขึ้น ชาวโลกสังเวยชีวิตบนถนนนาทีละ 3 คน ไทยพบตายวันละ37 คน องค์การอนามัยโลกเผยอุบัติเหตุจราจร สังเวยชีวิตคนทั่วโลกวันละ 3,000 คน พบในไทยปีละเกือบ 14,000 คน กระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยที่จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมมือกับองค์กรส่วนท้องถิ่นนำรถกระบะมาพัฒนาเป็นรถกู้ชีพฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน บริการชาวบ้านทั้งจังหวัดเป็นแห่งแรกของประเทศ ตั้งเป้าลดอัตราการตายได้ถึงร้อยละ 30 วันนี้(19 พฤศจิกายน 2549)นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวสาธารณสุข นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย สาธารณสุขนิเทศก์และผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการจัดระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดอุบลราชธานี และเปิดซ้อมความพร้อมของเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพเฉลิมราชย์ 60 ปี ที่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเตรียมรับมือเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่จะถึงในอีก 40 วัน นายแพทย์มงคลกล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญในการแก้ปัญหาการบาดเจ็บการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ทั่วโลก โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 3 เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันที่ระลึกเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรทั่วโลก(World Day of Remembrance for Road Crash Victims) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ขณะนี้องค์การอนามัยโลก รายงานว่าในแต่ละวัน จะมีประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรวันละ 3,000 คน หรือนาทีละ 3 คน หรือปีละ 1,095,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ50 อายุ 15-44 ปี และกว่าร้อยละ 90 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้หากไม่มีการแก้ไข คาดว่าอีก 20 ปี การบาดเจ็บจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65 สำหรับประเทศไทยมีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรในปี 2548 จำนวน 976,357 คน เฉลี่ยบาดเจ็บชั่วโมงละ 107 คน เป็นเหตุให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ ผู้พิการและความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่าปีละแสนล้านบาท ทำให้มีผู้พิการสะสม 65,000 คน จากสาเหตุเมาแล้วขับ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 13,711 คน เฉลี่ยวันละ 37 คน ทั้งนี้ แต่ละปีมีผู้ที่ต้องการรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศประมาณ 4 ล้านครั้ง แต่มีผู้ได้รับบริการเพียง 250,000 ครั้ง คิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของผู้ที่ต้องการรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลและเขตเมืองมากกว่าชนบทมากถึงร้อยละ 80 ทำให้ประชาชนในเขตชนบทยังขาดการเข้าถึงบริการดังกล่าว นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ในการขยายบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ พื้นที่ในชนบทในหมู่บ้านที่ห่างไกล กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดบริการกู้ชีพรองรับอุบัติภัยต่างๆ อย่างต่อเนื่องและมีระบบ การรับส่ง ผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย เชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็วและเหมาะสม ตั้งแต่การปฐมพยาบาล การแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ 1669 ฟรี การรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ ณ ที่เกิดเหตุ การเคลื่อนย้ายและนำส่งผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที โดยตั้งเป้า ภายในปี 2553 ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤตและเร่งด่วนอย่างน้อยร้อยละ 50 ได้รับการช่วยเหลือหรือนำส่งด้วยระบบการบริการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และจะลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินลงจากปี 2549 อย่างน้อยร้อยละ 15 รวมทั้งจะดำเนินการให้มีหน่วยปฎิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ทางด้านนายแพทย์วุฒิไกร มุ่งหมาย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มี 20 อำเภอ 5 กิ่งอำเภอ มีอุบัติเหตุจราจรปีละประมาณ 10,000 และผู้ป่วยฉุกเฉินที่บ้านที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนอีกนับไม่ถ้วน จึงได้เน้นการขยายระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยได้รับการช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ภายใน 15 นาทีหลังรับแจ้งเหตุ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี(อบจ.) จัดซื้อรถกระบะมาดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉินจำนวน 42 คัน พร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือเบื้องต้น เครื่องมือสื่อสาร รถดังกล่าวประจำการที่สถานีอนามัยหรือศูนย์สุขภาพชุมชน มีพนักงานประจำหน่วยๆละ 6 คน โดยผ่านการฝึกระเบียบวินัย ความรับผิดชอบและการทำงานเป็นทีมจากครูฝึกทหารจากกรมทหารราบ ที่ 6 และการฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน หลักสูตรเวชกรขั้นพื้นฐาน 110 ชั่วโมงจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอวารินชำราบ เพื่อให้พนักงานทุกคนเป็นมืออาชีพ ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ถือว่าเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่มีระบบบริการบริการการแพทย์ฉุกเฉินถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งได้เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา โดยรถ 1 คันจะดูแลประชาชน 40,000 คน จะทำให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มากถึงร้อยละ 10 – 30 สำหรับการบริหารจัดการระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น ได้รับงบประมาณจัดตั้งกองทุนสนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดอุบลราชธานีอีก 30 บาทต่อคนประชากรในจังหวัดอุบลฯจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี(อบจ.) , องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)หน่วยงานละ10บาทต่อคน อีกด้วย ทั้งนี้จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากที่จัดระบบการส่งต่อมีประสิทธิภาพในการลำเลียงขนย้ายผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในระดับสูงขึ้น และจากการปฏิบัติงานระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา หน่วยกู้ชีพได้ให้การบริการเพิ่มขึ้นจากวันละ 20 –25 ราย เป็นวันละ 100 – 110 ราย ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัว นายแพทย์วุฒิไกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้ขยายบริการตามรอยต่อระหว่างจังหวัด เพื่อให้ประชาชนพื้นที่ข้างเคียงได้รับบริการด้วย โดยจัดอบรมเจ้าหน้าที่กู้ชีพ เป็นเวชกรฉุกเฉินระดับพื้นฐาน ประจำรถพยาบาล ภายใต้ชื่อ “หน่วยกู้ชีพเฉลิมราชย์ ๖0 ปี” อีก 3 จังหวัดคือ ยโสธร อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ รวม 3,000 คน ด้วย เพื่อขยายผลบริการในพื้นที่ ตลอด 24 ชั่วโมง พฤศจิกายน5/2-3 ................................ 19 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 12    19/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ