กรมควบคุมโรค ชวนคนไทยลดบริโภคเกลือและโซเดียม แก้ปัญหาโรค NCDs เผยคนไทยป่วยมากกว่า 22 ล้านคน จากการบริโภคโซเดียมเกิน
- สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
- 28 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค สั่งการให้กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ติดตามเร่งค้นหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แอมโมเนียรั่วไหล และวางแผนเฝ้าระวังสุขภาพเพื่อป้องกัน อันตรายจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจัดทำมาตรการเพื่อป้องกันประชาชนและ ผู้ปฏิบัติงานไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ
วันนี้ (18 เมษายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีเหตุการณ์พบแอมโมเนียรั่วไหล ภายในโรงงานน้ำแข็ง จ.ชลบุรี ทำให้ประชาชนในละแวกนั้นได้รับผลกระทบจำนวนมาก มีอาการหมดสติ แสบตา แสบจมูก และแน่นหน้าอก โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมสถานการณ์ และอพยพประชาชนให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้รองอธิบดี นายแพทย์อภิชาติ วชิรพันธ์ และกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่คัดกรองและเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า แอมโมเนีย มีสถานะเป็นก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ถ้ามีความเข้มข้นสูงจัด เป็นสารที่มีความเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หากสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เมื่อก๊าซแอมโมเนียสัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยา มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่างๆ ของร่างกายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา ตาบวม น้ำตาไหล เวียนหัว ตาลาย อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง แสบคันตามผิวหนัง เป็นแผลไหม้ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากทำให้แสบจมูก แสบคอได้ โดยอุบัติเหตุรั่วไหลของแอมโมเนียในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว ท่อส่งก๊าซแตก เกิดความผิดพลาดระหว่างการจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย และขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
วิธีป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับพนักงาน สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 1.สวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในการป้องกันตนเอง 2.หมั่นตรวจสอบบำรุงรักษาถัง/ท่อส่งก๊าซอย่างสม่ำเสมอ 3.จัดเก็บถังแอมโมเนียในพื้นที่ที่ปลอดภัย 4.จัดทำแผนและซ้อมแผนการรับมือเหตุฉุกเฉิน กรณีเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่เกิดเหตุ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 1.ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ หากพบเห็นควันสีขาวจากโรงงาน รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที 2.หากเกิดเหตุให้รีบอพยพในทิศทาง เหนือลม และออกจากพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด 3.หากสารเข้าตาหรือโดนผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที 4.หากพบผู้หมดสติให้รีบเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวก และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที 5.โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอมากขึ้น หายใจมีเสียงหวีด และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
****************************
ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพฯ/สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 18 เมษายน 2567