กรมควบคุมโรค ชวนคนไทยลดบริโภคเกลือและโซเดียม แก้ปัญหาโรค NCDs เผยคนไทยป่วยมากกว่า 22 ล้านคน จากการบริโภคโซเดียมเกิน
- สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
- 28 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังสถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตทางถนนที่ผู้ขับขี่ดื่มแล้วขับ โดยสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 จากศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน พบว่าวันที่ 11 - 12 เมษายน 2567 มีอุบัติเหตุสะสม 541 ครั้ง ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 14.4 (632 ครั้ง) มีผู้เสียชีวิตสะสม 63 ราย ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 17.11 (76 ราย) บาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 550 ราย ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 11.43 (621 ราย) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ คือ ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิด
วันนี้ (13 เมษายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บในช่วงเทศกาล กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลสะสมช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2 วัน ในวันที่ 11 - 12 เมษายน 2567 พบจำนวนผู้ขับขี่ดื่มขับจำนวน 947 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.88 ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด และในจำนวนนี้พบผู้กระทำผิดดื่มแล้วขับ เป็นเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี ถึง 73 ราย ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่เยาวชนไทยเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ซึ่งอาจพิการหรือสูญเสียชีวิตได้
“สงกรานต์นี้ ขอให้ทุกคนช่วยกัน หากดื่มต้องไม่ขับ และผู้ขาย ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่จำหน่ายสุราให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่จำหน่ายสุราแก่ผู้มึนเมาจนครองสติไม่ได้ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท รวมถึงไม่จำหน่ายในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท” นายแพทย์ธงชัยกล่าว
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บภาพรวมทั่วประเทศ พบผู้ใช้รถใช้ถนนดื่มแล้วขับทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงในช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00 - 04.00 น. ซึ่งปัจจุบันกฎหมายเมาแล้วขับมีการเพิ่มโทษให้กับผู้กระทำความผิดในข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา สำหรับการกระทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท หากทำผิดซ้ำข้อหา “เมาแล้วขับ” ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็น จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท ซึ่งศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ และจะถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ และหากเมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ เสียชีวิต มีโทษสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที
กรมควบคุมโรค ขอส่งความห่วงใย อยากเห็นคนไทยเดินทางปลอดภัยและมีสุขภาพดี จึงขอให้ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง พร้อมมอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 เขต สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งการขายสุราในสถานที่ห้ามขาย สำรวจร้านค้าในชุมชนที่ขายสุราในเวลาห้ามขาย และให้หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรคจัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน/ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา จะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ให้โทรศัพท์แจ้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร. 0-2590-3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
**********************************
ข้อมูลจาก: กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/กองกฎหมาย/
สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 13 เมษายน 2567