กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนใช้สมุนไพรไทยพื้นบ้าน 8 ชนิด ได้แก่ ขิง ดีปลี เมล็ดเพกา มะขามป้อม มะขาม มะนาว มะแว้งเครือ และมะแว้งต้น มีสรรพคุณแก้ไข้หวัดที่มักมาพร้อมกับภัยหนาว เป็นทางเลือกแนวประหยัด ได้ผลดี นายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศประเทศไทยกำลังหนาวเย็น โรคที่ประชาชนมักป่วยกันมากในฤดูนี้ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ มากที่สุดคือไข้หวัด เนื่องจากอากาศมีความชื้นน้อย มีปริมาณฝุ่นละอองมากกว่าฤดูอื่น จึงทำให้เกิดระคายเคืองระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น ผู้ที่ต้องระวังรักษาสุขภาพให้ดีในฤดูหนาว ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว เช่น หอบหืด ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็ก และผู้สูงอายุ ควรใส่เสื้อผ้าหนาๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นเพียงพอ นายแพทย์นรากล่าวว่า โดยทั่วไปเมื่อเป็นไข้หวัด อาการจะทุเลาไปเองประมาณ 1 สัปดาห์ ไม่ต้องกินยา ในระหว่างที่ป่วยให้จิบน้ำอุ่น พักผ่อนให้มากๆ แต่สิ่งที่เป็นเรื่องน่ารำคาญของโรคนี้คือ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ และหายใจลำบาก โดยจากการสำรวจพืชสมุนไพรพื้นบ้านของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ พบว่ามีสมุนไพรไทยพื้นบ้านหลายชนิดที่บรรเทาอาการ แต่มี 8 ชนิดที่นิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการไข้หวัด ลดอาการไอ ลดการระคายเคืองคอจากเสมหะ ได้แก่ ขิง ดีปลี เมล็ดเพกา มะขามป้อม มะขาม มะนาว มะแว้งเครือ และมะแว้งต้น ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้มีอยู่ตามพื้นบ้านทุกภาคอยู่แล้ว มีสรรพคุณต่างกัน สามารถเลือกใช้ตามอาการได้ โดยขิง มีชื่อเรียกแตกต่างกัน ได้แก่ ขิงเผือก ขิงแกลง ขิงแดง สะเอ มีรสหวานเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียด แก้เสมหะ แก้คลื่นเหียนอาเจียน โดยนำเหง้าแก่สดที่มีอายุ 11-12 เดือน ซึ่งจะมีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ วิธีใช้ ให้นำเหง้าขิงสดฝนกับน้ำมะนาว หรือนำไปตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นเอาน้ำผสมเกลือเล็กน้อย นำมากวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ดีปลี มีหลายชื่อเรียกได้แก่ ดีปลีเปลือก ประดงข้อ ปานนุ มีรสเผ็ด ร้อน ขม มีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ใช้แก้ไข้คือผลแก่แห้ง ใช้ประมาณครึ่งถึง 1 ผล ฝนกับน้ำมะนาว ใส่เกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ เช่นกัน เพกาหรือมะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิ้นฟ้า ส่วนที่ใช้คือเมล็ดแห้งจากฝักแก่ เมล็ดของเพกานี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของน้ำจับเลี้ยงที่คนจีนใช้ดื่มแก้ร้อนใน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ โดยใช้เมล็ดประมาณ 1 กำมือ หรือหนักประมาณ 3 กรัม ใส่น้ำ 300 มิลลิลิตร ต้มไฟอ่อนๆ พอเดือด และเคี่ยวนานประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง มะขามป้อม หรือ สันยาก่า มั่งลู่ กำทวด กันโดด เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงมาก มีรสฝาดอมเปรี้ยว ใช้แก้ไอ กระตุ้นน้ำลายให้ชุ่มคอ แก้คอแห้ง ขับเสมหะ โดยใช้เนื้อผลสดแก่ครั้งละ 1-3 ผล โขลกพอแหลก ใส่เกลือเล็กน้อย ใช้อมหรือเคี้ยวก็ได้ รับประมาณวันละ 3-4 ครั้ง สำหรับมะขาม มีรสเปรี้ยวเพราะมีกรดอินทรีย์ แพทย์แผนไทยเชื่อว่ามีฤทธิ์ขับเสมหะ ส่วนที่นำมาใช้คือเนื้อฝักแก่ นำมาจิ้มเกลือรับประทาน หรืออาจคั้นเป็นน้ำมะขามใส่เกลือรับประทานเปล่าๆ ส่วนมะนาวนั้น ให้ใช้ผลสดคั้นเอาน้ำใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ หรืออาจทำเป็นน้ำมะนาวใส่เกลือผสมน้ำตาล ปรุงรสจัด ดื่มบ่อยๆก็ได้ สำหรับมะแว้งเครือ มะแว้งต้น สรรพคุณเหมือนกัน เป็นยากัดเสมหะ ช่วยขับเสมหะ มีรสขม ส่วนที่ใช้คือผลแก่สดที่สุกแล้ว ใช้ 5-10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาเฉพาะน้ำ ใส่เกลือใช้จิบบ่อยๆ นายแพทย์นรากล่าว *********************** 19 ธันวาคม 2551


   
   


View 8    19/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ