กระทรวงสาธารณสุข เตรียมหารือ ก.พ. วันที่ 25 มีนาคมนี้ เสนอขอปรับตำแหน่ง “เภสัชกร” เลื่อนไหลเป็นระดับชำนาญการพิเศษได้ทุกตำแหน่ง เพิ่มความก้าวหน้าตามนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร ชี้ใช้เวลาเรียน 6 ปี เช่นเดียวกับแพทย์-ทันตแพทย์ ปฏิบัติงานดูแลประชาชนร่วมกับทีมสหวิชาชีพ แต่ที่ผ่านมาก้าวหน้าเข้าสู่ระดับชำนาญการพิเศษแค่ 11%

           นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายดูแลเรื่องขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเตรียมที่จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของวิชาชีพ “เภสัชกร” ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถปรับตำแหน่งเลื่อนไหลเป็น “เภสัชกรชำนาญการพิเศษ” ได้ทุกตำแหน่ง เนื่องจากตั้งแต่ปี 2552 มีการปรับหลักสูตรการศึกษาเภสัชศาสตร์จาก 5 ปี เป็น 6 ปี เช่นเดียวกับแพทย์และทันตแพทย์ มีการฝึกอบรมความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อพัฒนาให้เภสัชกรมีความรู้ สมรรถนะ และความสามารถในการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อน ร่วมกับแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพตาม Service Plan ในทุกสาขา เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางจิตเวช โรคไต งานสุขภาพปฐมภูมิ เป็นต้น รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพด้วย

           นพ.ภาณุมาศกล่าวอีกว่า เภสัชกรมีบทบาทสำคัญในการวินิจฉัยทางเภสัชกรรม ค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยาของผู้ป่วย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยา ป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สมเหตุผล ป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย รวมทั้งยังมีบทบาทในการวิจัยและพัฒนายาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ถือเป็นอีกกำลังหลักสำคัญของระบบสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีเภสัชกรรวม 10,498 ตำแหน่ง พบว่า เป็นเภสัชกรระดับปฏิบัติการ/ชำนาญการ มากถึง 9,011 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 85.84 มีเภสัชกรระดับชำนาญการพิเศษ เพียงร้อยละ 11.05 ขณะที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีเภสัชกรออกจากระบบไปแล้วถึง 400 คน เนื่องจากขาดขวัญกำลังใจ ค่าตอบแทนและความก้าวหน้า เมื่อเทียบกับภาคเอกชนที่มีค่าตอบแทนสูงถึง 50,000 – 60,000 บาทต่อเดือน

           “เมื่อเทียบกับแพทย์และทันตแพทย์ที่สามารถเลื่อนไหลปรับระดับเป็นชำนาญการพิเศษได้ทุกคน ทั้งที่มีหลักสูตรเรียน 6 ปีเท่ากัน มีความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยในทุกพื้นที่ ทุกระดับ ทุกมิติในการดูแลรักษา ได้รับการศึกษา ฝึกอบรมให้มีความรู้ความสามารถและมีสมรรถนะในการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคเฉพาะรายร่วมกับแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความทัดเทียม สร้างขวัญกำลังใจแก่เภสัชกรผู้ปฏิบัติงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับแพทย์และสหสาขาวิชาชีพ และสร้างระบบสุขภาพที่ดีสำหรับประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยจากการใช้ยา จึงเตรียมเสนอต่อ ก.พ.ให้เภสัชกรได้รับการพิจารณาปรับตำแหน่งเลื่อนไหลถึงระดับชำนาญการพิเศษได้ทุกตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข” นพ.ภาณุมาศกล่าว

**********************************************  23 มีนาคม 2567



   
   


View 3034    23/03/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ