อย. ย้ำ! ซื้อเครื่อง CPAP ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 36 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจจากการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพตนเอง ผ่านระบบ 4HealthPM2.5 พบประชาชนมีอาการ คัดจมูก แสบจมูก และแสบตา ในช่วงฝุ่นละอองสูง สำหรับบางรายอาจมีเลือดกำเดาไหลได้ เนื่องจากการอักเสบบริเวณเส้นเลือดฝอย แนะประชาชนสำรวจ เพื่อป้องกันตนเอง และประเมินอาการตนเอง
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพตนเองผ่านระบบ 4HealthPM2.5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีอาการคัดจมูก แสบจมูก และแสบตา สำหรับบางรายอาจมีอาการเลือดกำเดาไหลในช่วงที่ฝุ่นละอองสูงได้ เนื่องจากฝุ่นละอองอาจเป็นปัจจัยที่ไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการอักเสบในเยื่อบุจมูกได้ เมื่อสัมผัสกับฝุ่นก็จะไปกระตุ้นให้โรคกำเริบ ทำให้เกิดการอักเสบ และทำให้เลือดฝอยบริเวณจมูกมีการอักเสบแตกง่าย จนกลายเป็นเลือดออกจมูก หรือเลือดกำเดาไหล โดยมักจะเกิดในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีความไวต่อการเกิดโรค อย่างไรก็ดี อาจมีปัจจัยอื่นได้เช่นเดียวกัน เช่น โรคภูมิแพ้ ไข้หวัด เป็นต้น โดยจากข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพตนเองผ่านระบบ 4HealthPM2.5 พบว่า กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ร้อยละ 0.5 มีอาการเลือดกำเดาไหล และมักจะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย
“ทั้งนี้ กรมอนามัยขอแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและดูแลป้องกันตนเองเป็นพิเศษ หากมีอาการเลือดกำเดาไหลให้ก้มหน้าลง และให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ บีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5 – 10 นาที โดยให้หายใจทางปากแทน เพื่อกดบริเวณด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเลือดออกบ่อยที่สุด อาจใช้น้ำแข็ง หรือผ้าเย็นประคบบริเวณจมูกด้านนอก ถ้ามีเลือดไหลลงคอ ให้บ้วนใส่ภาชนะเพื่อประเมินจำนวนเลือด และป้องกันการอาเจียน ถ้าเลือดยังไหลไม่หยุดหรือมีอาการหน้ามืดเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง หากต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และรีบกลับเข้ามาในอาคารทันทีเมื่อเสร็จภารกิจ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือลดการก่อฝุ่นละออง โดยไม่เผาขยะ เผาการเกษตร ทั้งนี้ ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงสามารถประเมินอาการตนเอง และรับคำแนะนำเบื้องต้นได้ที่ 4HealthPM2.5” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 11 มีนาคม 2567