กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี จัดงานประชุมวิชาการ ครั้งที่ 34 ในหัวข้อ "Good basic to advanced medical technology for all : พื้นฐานดี เทคโนโลยีเด่น เพื่อสุขภาพแข็งแรงอย่างเท่าเทียม" รูปแบบ Hybrid meeting ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข นำเสนอผลการศึกษาวิจัย นวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีการเสวนาเชิงวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้าของสหวิชาชีพต่างๆ รวมถึงประชาชนทั่วไป

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตของประชาชนลดน้อยลง ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น สถานพยาบาลในประเทศ ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก โรงพยาบาลชุมชน แม้กระทั่งโรงพยาบาลเอกชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้ารับการรักษาตามความเหมาะสมของตนเอง ซึ่งระบบสุขภาพของประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน เทคโนโลยีที่นำมาใช้ มีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาความรู้อย่างสม่ำเสมอทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข (ปี 2560-2579) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดทิศทางการปฏิบัติงานตามกรอบยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ (Promotion Prevention & Protection Excellence) 2.บริการเป็นเลิศ (Service Excellence) 3.บุคลากรเป็นเลิศ (People Excellence) และ 4.บริหารเป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล (Government Excellence) ประกอบกับมีนโยบายการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellence Medical Hub) แห่งอาเซียน โดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายการดําเนินงานที่ชัดเจน สอดคล้องกับแผนงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับโรงพยาบาล และสถานพยาบาลภายในสังกัด รวมถึงการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้มีความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ (Medical Excellence) ที่มีบทบาทสำคัญระดับประเทศ (National Significance) และสามารถพัฒนาเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Sustainability Development) ในอนาคต เพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ ด้านต่างๆ และยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ให้เป็นเลิศและมีความสามารถแข่งขันในระดับอาเซียนได้ สอดคล้องกับพันธกิจกรมการแพทย์ ในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมคุณค่า (Appropriate Medical Technology) เสริมสร้างการมีส่วนร่วม (Co-Creation) ทางวิชาการและบริการทางการแพทย์ในทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาการแพทย์ของประเทศสู่มาตรฐานสากล

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งมีการสร้างองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อให้ดูแลรักษาผู้ป่วยได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโรคอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งการประชุมวิชาการถือเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้น ส่งเสริมและพัฒนาให้บุคลากรทุกสาขาวิชาชีพได้มีโอกาสในการนำองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เผยแพร่สู่เวทีสาธารณะ รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและต่างประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพและการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายด้านวิชาการ

นายแพทย์ทัศนชาติ จิตรีธาตุ ประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี ครั้งที่ 34 ประจำปี 2567 กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการจัดประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี ที่ผ่านมาระหว่างปี พ.ศ.2562-2566 มีการบรรยายวิชาการในรูปแบบ Symposium และ Lecture มากกว่าปีละ 40 เรื่อง รวมทั้งการสร้างภาคีเครือข่ายลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศ เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ศูนย์การแพทย์พัฒนา บริษัทบ้านบึง เป็นต้น และต่างประเทศ ได้แก่ Severance Hospital, Yonsei University Health System ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น นอกจากนี้การผลักดันให้การจัดประชุมวิชาการ โรงพยาบาลราชวิถีมีความเป็นสากลมากขึ้น โดยมีวิทยากรจากต่างประเทศตอบรับเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประจำทุกปี จากประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน อิสราเอล ไต้หวัน เป็นต้น และยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการทั้งจากบุคลากรภายในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบ Poster Presentation, การประกวดผลงานวิจัย Oral Presentation สำหรับแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด, การประกวดผลงานวิจัย Oral Presentation สำหรับพยาบาล และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานเด่น (Showcase) โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมวิชาการ มากกว่าปีละ 2,500 คน ผลการประเมินความพึงพอใจในการจัดประชุมวิชาการประจำปี อยู่ในระดับดีมาก

 

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #ประชุมวิชาการ ครั้งที่ 34

 - ขอขอบคุณ -
            16 กุมภาพันธ์ 2567



   


View 167    16/02/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ