เดชอิศม์ ปลื้ม ไทยได้รับ ‘เมืองสุขภาพดี’ สี่แห่งจากองค์การอนามัยโลก มอบกรมอนามัยพัฒนารูปแบบต่อเนื่องเพื่อขยายผล หวังสร้างสุขภาพดีทั่วเมืองไทยเป็นของขวัญปีใหม่
- กรมอนามัย
- 623 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบประเมินความเสี่ยงสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เกิดไฟไหม้บ่อขยะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และขอความร่วมมือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ กำกับ ดูแล เฝ้าระวัง เร่งหามาตรการป้องกันความเสี่ยงการเกิดไฟไหม้บ่อขยะที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในภายหลัง ลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากการได้รับสัมผัสการสูดดมควันไฟ เขม่า และฝุ่นละอองจากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดควันไฟ เขม่า และฝุ่นละอองลอยฟุ้งกระจายในพื้นที่โดยรอบ เบื้องต้นสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว สาเหตุของไฟไหม้เกิดจากความร้อนสะสมจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนเกิดก๊าซสะสมใต้กองขยะ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ จากการสำรวจตรวจสอบระบบการกำกับ ดูแล เฝ้าระวัง มาตรการป้องกันความเสี่ยงการเกิดไฟไหม้บ่อขยะ พบว่า บ่อขยะแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบ่อขยะมีเทศบาลควบคุม กำกับ ดูแล ตามกฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. 2560 เป็นพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะต้นแบบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชน ทีม SEhRT จึงให้ข้อเสนอแนะในการป้องกัน ควบคุม หรือการกำหนดมาตรการป้องกันลดผลกระทบแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลศูนย์กำจัดขยะดังกล่าว เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการเกิดไฟไหม้บ่อขยะซ้ำ
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับการลงพื้นที่ประเมินความเสี่ยงและสำรวจพื้นที่โดยรอบบ่อขยะ โดยทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี พบว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบบ่อขยะในระยะ 2-3 กิโลเมตร ไม่มีแหล่งน้ำสาธารณะ และเทศบาลมีระบบบำบัดน้ำเสียของบ่อขยะ สำหรับบำบัดน้ำชะกากขยะเพื่อไม่ให้ไหลลงไปยังแหล่งน้ำอื่น จึงไม่พบความเสี่ยงในการปนเปื้อนน้ำชะบ่อขยะในสิ่งแวดล้อม พื้นที่ทางการเกษตร และส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สำหรับการประเมินความเสี่ยงสุขภาพของประชาชน พบว่า ควันไฟและฝุ่นละอองลอยไปตามกระแสลมไปถึงชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงห่างจากบ่อขยะประมาณ 3-5 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อประชาชนประมาณ 20 ครัวเรือน ทำให้ประชาชนบางส่วนมีอาการไอ แสบจมูก แต่อาการไม่รุนแรง จึงได้ให้คำแนะนำให้สังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติรุนแรง เช่น ระคายเคืองตา จมูก คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย ไอถี่ หายใจลำบากหรือเจ็บหน้าอก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่และไปพบแพทย์ทันที
“ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะในหลายพื้นที่ และมีความถี่เพิ่มขึ้น กรมอนามัย จึงขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ กำกับ ดูแล เฝ้าระวัง เร่งหามาตรการป้องกันความเสี่ยงการเกิดไฟไหม้บ่อขยะที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในภายหลัง การกำหนดให้ผู้ครอบครองที่ดิน ผู้ดูแล และเจ้าของบ่อขยะต้องรับผิดชอบมีแผนรองรับการเกิดภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการให้บริการคุ้มครองด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 6 กุมภานธ์ 2567