กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคเครือข่ายมูลนิธิ สมาคม จิตอาสา สานพลังสร้างทีมอาสาก่อการดีป้องกันการจมน้ำ (SPEC Merit Maker: SPEC MM) เปลี่ยนแนวคิดจากช่วยคนเจ็บเก็บคนตายเป็นร่วมป้องกันการจมน้ำเชิงรุกในชุมชน

          วานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2567) ณ ห้องประชุมประเมินจันทวิมล กรมควบคุมโรค นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมเพื่อ "สานพลังอาสาก่อการดีป้องกันการจมน้ำ (SPEC MM)" พร้อมด้วย แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค และบุคลากรจากมูลนิธิ สมาคม จิตอาสา หน่วยงานต่างๆ ที่มาเข้าร่วมประชุม อีกทั้งยังมีเครือข่ายผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Cisco Webex Meetings จากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นทีมที่สนใจสร้างทีมอาสาก่อการดีป้องกันการจมน้ำ

          นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญเราต้องมาสูญเสียเด็กจากการจมน้ำอีกปีละเกือบ 700 คน การป้องกันการจมน้ำจะช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่งผลให้อายุค่าเฉลี่ยเด็กแรกเกิดเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และกำหนดให้การลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำเป็นเป้าหมายหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่สำคัญคือ เครือข่ายจากมูลนิธิ สมาคม จิตอาสา กู้ภัย ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

          “อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่พบว่าการจมน้ำเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบร้อยละ 10 โดยสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ เด็กขาดโอกาสในการฝึกทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” นายแพทย์ดิเรก กล่าว

          แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานจากองค์การอนามัยโลกพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี ของประเทศไทย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) พบคนไทยจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 3,634 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 700 คน หรือวันละ 2 คน กิจกรรมก่อนเกิดเหตุของการจมน้ำที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็ก คือ การเล่นน้ำ (ร้อยละ 57) รองลงมาคือ การพลัดตกลื่น (ร้อยละ 29)

          กรมควบคุมโรค ได้มีการวิเคราะห์การดำเนินงาน และปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และเพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำและสร้างความครอบคลุมพื้นที่ในระดับชุมชนมากขึ้น จึงได้พัฒนาแนวทางอาสาก่อการดีป้องกันการจมน้ำ หรือเรียกย่อๆ ว่า SPEC MM ซึ่งมาจากคำว่า Special Merit Maker เป็นแนวทางการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำที่ครอบคลุมมาตรการป้องกันการจมน้ำตาย Drowning Chain of Survival นั่นคือ ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ ประกอบด้วย S: Survival Swimming การสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด  E: Environment การจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง  P: Playpen การจัดให้มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยหรือคอกกั้นเด็ก C: CPR การสอนฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ เป็นต้น โดยมุ่งหวังว่า เครือข่ายอาสาก่อการดี จากภาคมูลนิธิ สมาคม จิตอาสา จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่/ชุมชน เพื่อลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของประเทศไทย

 

*************************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567

 



   
   


View 235    02/02/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ