เมื่อวันที่ (19 มกราคม 2567) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาและต่อยอดการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยนายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางสาวจิราภรณ์ เพชรรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอไชยา โรงพยาบาลไชยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากหมาก และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กว่า 400 คน เข้าร่วมงาน

 


จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เรื่องมะเร็งครบวงจร ซึ่งหน่วยงานระดับกรม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รับนโยบายดังกล่าว มาดำเนินการ โดยมีเป้าหมาย คือ โรคมะเร็ง ต้องหมดไปจากประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับนโยบายของกระทรวงฯ มาดำเนินการโดยการเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการของสถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง และได้เปิดตัวโครงการรณรงค์หยุดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย FINDING HPV STOP CERVICAL CANCER ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

 




สำหรับการรับการถ่ายทอดนโยบายของกรมฯ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้เลือกจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบ จึงได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเครือข่ายบริการสุขภาพของจังหวัดสุราษฎร์ธานี กำหนดแนวทางขับเคลื่อนรณรงค์ให้หญิงไทยกลุ่มเป้าหมายอายุ 30-60 ปี ได้รับการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV Self sampling (การเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง) โดยนำร่องใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไชยา ท่าฉาง และท่าชนะ โดยใช้กลไกการพัฒนา อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องให้เป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพ หรือ Health Coach เพื่อไปแนะนำ และกระตุ้นหญิงไทยกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ได้เก็บตัวอย่าง ด้วยตนเอง ร่วมกับพี่เลี้ยง คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการจัดระบบบริการคัดกรอง การส่งต่อ วินิจฉัย และรักษา

 


จากการวางระบบ และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชน ผ่านแกนนำเจ้าหน้าที่ และ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ทำให้ผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2566 ถึง วันที่ 16 มกราคม 2567 มีตัวอย่างจากทั้ง 3 อำเภอ ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี รวมทั้งสิ้น  2,259 ราย จากเป้าหมายปี 2567 จำนวน 6,351 ราย (ร้อยละ 100) และยังมีตัวอย่างส่งตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างดำเนินการได้พบทั้งปัญหา ความสำเร็จ และนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ควรนำมาถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสื่อสารแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ของอำเภออื่นๆ เพื่อนำไปพัฒนา และประยุกต์ใช้ตามบริบทของอำเภอนั้นๆที่สำคัญ คือ สโลแกนการณรงค์ที่สำคัญของพื้นที่ คือ “เอชพีวี รู้เร็ว รู้ไว รักษาได้ หายขาด” และ “สะดวก ง่ายๆ ไม่อาย ไม่เจ็บ”

 


การจัดกิจกรรม Kick off คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีผลงานโดดเด่น จึงไม่ใช่เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ให้หญิงไทยตระหนักถึงภัยอันตรายจากมะเร็งปากมดลูก และประโยชน์ของการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA test แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเองเท่านั้น แต่อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาและต่อยอดการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในจังหวัดสุราษฎร์ธานีจากพื้นที่นำร่องต้นแบบ คือ อำเภอไชยา สู่อำเภออื่นๆ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อไป

 

“การขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร ดำเนินการสอดคล้องไปกับนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แนวคิด “รู้เท่าทัน ป้องกันได้ ตรวจพบรักษาไว ปลอดภัยจากมะเร็ง” และทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สตรีไทยอายุ 30-60 ปี ให้ได้รับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test แบบไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับการตรวจด้วยวิธี HPV Self sampling สามารถทำการเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเอง สะดวก รวดเร็ว ไม่เจ็บ ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง ลดความเขินอาย ซึ่งการตรวจ HPV DNA เป็นวิธีที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ สูงกว่าวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นการตรวจในระดับโมเลกุล สามารถระบุ สายพันธุ์ HPV ทั้ง 14 สายพันธุ์ ที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้วิธีนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสการตรวจพบความผิดปกติ และเข้าสู่การรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรกได้ทันเวลา ทั้งนี้ ข้อมูลสายพันธุ์เชิงระบาดวิทยาจากการตรวจ สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาวัคซีนที่เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสเอชพีวีในประเทศไทย และเป็นข้อมูลสำคัญในการคัดเลือกวัคซีนสำหรับป้องกันมะเร็งปากมดลูก อันจะส่งผลให้สตรีไทยปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูก”



   
   


View 346    22/01/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ