แพทย์แผนไทยแนะนำแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยการใช้ตำรับยาสมุนไพรทั้งภายในและภายนอก  พร้อมหัตถการทางแพทย์แผนไทยและคำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน เนื่องในวันสะเก็ดเงินโลก
     ดร.ภก.ปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กล่าวว่าทุกวันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปีถือเป็นวันสะเก็ดเงินโรค  (World Psoriasis Day) เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งในปีนี้สถาบัน International Federation of Psoriasis Associations (IFPA) ได้กำหนดภายใต้แนวคิด คือ "Access for All" เข้าถึง เท่าเทียม ทั่วไทย ได้คุณภาพ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์โรคสะเก็ดเงิน  ในประเทศไทย ปี 2565 พบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประมาณ 2% ของประชากรไทยทั้งหมด โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรม และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ใช่โรคติดต่อ มีลักษณะอาการสำคัญคือ มีผื่นแดง นูนและมีขอบชัด มีขุยหนาสีเงิน หรืออาจพบเป็นตุ่มหนองกระจาย ทั่วร่างกาย หนังศีรษะ อาจมีเล็บผิดปกติ หรือมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย วิธีการรักษาปัจจุบันมีทั้งยารับประทาน ยาทาภายนอก การฉายแสง และยาฉีด 
      ในทางการแพทย์แผนไทย ก็มีการกล่าวถึงโรคผิวหนังที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งกล่าวถึงไว้ในพระคัมภีร์วิถีกุฏฐโรค กล่าวถึงโรคเรื้อน รักษายาก แต่มีโอกาสหาย เมื่อวิเคราะห์อาการเทียบเคียงกับโรคสะเก็ดเงินแล้วพบว่าใกล้เคียงกับ เรื้อนมูลนกหรือเรื้อนกวาง เป็นโรคที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ (อุปปาติกะ) ร่วมกับพฤติกรรมเสี่ยงส่งผลต่อธาตุในร่างกาย  ทำให้มีความผิดปกติของเลือด และน้ำเหลือง เกิดรอยโรคที่แสดงออกมาทางผิวหนัง ทำให้ผิวหนังพิการ เป็นผื่นปื้นหนา หลุดลอก แม้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการของโรคได้ สำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงินจะต้องมีการตรวจประเมิน วิเคราะห์อาการของโรคโดยแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อเลือกใช้ยาที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย โดยยาสมุนไพรที่ใช้มีทั้งยาใช้ภายนอก เช่น ยาประสะผิวภายนอก ดับพิษที่ปะทุออกภายนอก ลดอาการผื่นแดงและอักเสบ ยาครีมบัวบก ช่วยการสมานแผลป้องกันการติดเชื้อ เจลว่านหางจระเข้ เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ช่วยให้สะเก็ดอ่อนนุ่ม ทิงเจอร์ทองพันชั่ง แก้อาการผื่นคันตามร่างกาย และยาสมุนไพรรับประทานได้แก่ ยาเบญจโลกวิเชียร หรือ ยาห้าราก สรรพคุณกระทุ้งพิษ ถอนพิษ ยาเขียวหอม แก้ตัวร้อน แก้พิษภายใน ยาบำรุงโลหิต สรรพคุณบำรุงโลหิต หรือการใช้ยาปรุงเฉพาะราย ซึ่งเป็นยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน หรืออาจมีการทำหัตถการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การพอกยาสมุนไพร การแช่ยาสมุนไพร เป็นต้น โดยการใช้ยาจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผื่นปะทุขึ้นหรือมีอาการไข้ได้ พร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว โดยหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกของหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารทะเลบางชนิด ปลาน้ำจืดหรือปลาที่มีเมือกมาก ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง รักษาความสะอาดของร่างกายเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและเหมาะสมและดูแลผิวให้ชุ่มชื้นห้ามเกาหรือแกะบริเวณรอยโรค ดูแลระบบขับถ่ายให้ปกติ  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ผ่อนคลายไม่ตึงเครียดโดยใช้วิธีสมาธิบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจ   
      ดร.ภก.ปรีชา กล่าวในตอนท้ายว่า ในปัจจุบันมีการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยในสถานบริการของรัฐซึ่งสามารถเบิกจ่ายยาในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ตามสิทธิพร้อมทั้งการรับบริการหัตถการด้วย ทั้งนี้ มีโรงพยาบาลที่มีการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยกว่า 500 แห่ง ทั่วประเทศ กระจายอยู่ทุกภูมิภาค สามารถให้คำปรึกษาและ ให้คำแนะนำ สอบถามรายละเอียดได้ตามสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านของท่าน หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน หมายเลขโทรศัพท์  0 2224 3261


 



   
   


View 1201    30/10/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ