สบส. สนธิกำลัง บก.ปคบ. และ อย.บุกทลายสถานปฏิบัติธรรม อวดอ้างรักษาสารพัดโรคเรื้อรังหายขาดในไม่กี่เดือน

         กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) สนธิกำลังตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บุกสถานปฏิบัติธรรม อวดอ้างสรรพคุณรักษาสารพัดโรค ทั้งโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจให้หายขาดได้ใน 1-3 เดือน รวบผู้ต้องหา 6 ราย พร้อมแจ้งข้อหากระทำผิดกฎหมายหลายกระทง อาทิ หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน จำหน่ายยาสมุนไพรเถื่อน ฯลฯ

          นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า จากกรณีที่ กรม สบส.ได้รับการประสานจาก กก.4 บก.ปคบ. ให้ร่วมตรวจสอบสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ ณ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสถานปฏิบัติธรรมดังกล่าว มีพฤติกรรมในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล โพสต์รูปภาพ คลิปวิดีโอการรักษาโรค และข้อความอันสื่อให้เข้าใจว่าสามารถรักษาโรคเบาหวาน หรือโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งให้หายขาดในระยะเวลา 1-3 เดือน อีกทั้ง มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของสถานปฏิบัติธรรมว่าสามารถรักษา และบรรเทาอาการได้สารพัดโรค ตนจึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมาย กรม สบส. ร่วมสนธิกำลังกับ กก.4 บก.ปคบ. และ อย. เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยพบว่าสถานปฏิบัติธรรมดังกล่าว มีพระภิกษุซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดำเนินการตรวจรักษาโรคแก่ประชาชน โดยใช้วิธีการตรวจรักษาที่มิใช่วิธีการตามหลักวิชาการทางการแพทย์ เช่น การใช้มือสัมผัสตัวและนำหินมาวนบริเวณส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรค หรือการใช้เข็มลักษณะคล้ายเข็มเย็บผ้าแทงไปตามจุดต่างๆของร่างกาย เพื่อให้เลือดออกมาจากรอยเจาะ จากนั้นใช้แท่งเหล็กถูวนบริเวณแผลที่มีเลือดออก ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงแสดงตัวเข้าจับกุมและแจ้งข้อหาการกระทำผิดกับผู้ต้องหา 6 ราย ในเบื้องต้น ประกอบด้วย 1)พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” 2)พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” 3)ประมาลกฏหมายอาญา ฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาน” 4)พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ฐาน “ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต”, “ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ”, “ร่วมกันโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” และ “ร่วมกันโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัดรักษา บรรเทา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือรักษาโรคให้หายขาดได้ และแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง” และ 5)พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฐาน “ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” พร้อมกับตรวจยึดของกลาง และพยานหลักฐานอื่นๆ ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี

          ด้าน นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรม สบส.ขอเน้นย้ำกับพี่น้องประชาชนทุกท่าน ให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนเลือกรับบริการรักษาพยาบาลทุกประเภท ขอให้เลือกรับบริการจากแพทย์ และสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น อย่าหลงเชื่อการโฆษณาอวดอ้างจากสื่อโซเชียล หรือจากคำบอกเล่าจากบุคคลอื่นว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรคเรื้อรังให้หายขาด โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน, โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต, โรคทางจิตเวช, โรคความดันโลหิต, โรคทางสมอง หัวใจและหลอดเลือด และโรคเอดส์ ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าสามารถรักษาอาการของโรคดังกล่าวให้หายขาดได้ หากพบเห็นขอให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ให้หลีกเลี่ยงการรับบริการ และหากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็ขอให้แจ้งเบาะแสทมาที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป

***************** 25 ตุลาคม 2566



   
   


View 171    25/10/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ