นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลการกลายพันธุ์ถูกใช้ทั่วโลก ในการตัดสินใจเพื่อกำหนดกฎระเบียบ และใช้สำหรับการอนุมัติและขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลง ยารักษาโรค เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์ใช้ทางการแพทย์ และการกำหนดค่ามาตรฐานสำหรับระดับการสัมผัสที่ยอมรับได้ในอากาศ น้ำ และอาหาร ข้อมูลสารเคมีเป็นพิษต่อพันธุกรรมจากการทดสอบ สามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในมนุษย์ได้ทั้งในเซลล์ร่างกายและเซลล์สืบพันธุ์ โดยมีสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) และองค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐอเมริกา เป็นหน่วยงานกำกับดูแลข้อมูลดังกล่าว

               ประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดแนวทางในการขออนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประเภทยาพัฒนาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยให้มีข้อมูลการศึกษาผลิตภัณฑ์ด้านความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมในหลอดทดลอง เพื่อประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ซึ่งแนวทางสำหรับการประเมินความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมในหลอดทดลองจะต้องดำเนินการทดสอบ 3 ระดับ ได้แก่ การทดสอบในระดับยีน เช่น การทดสอบการก่อกลายพันธุ์ในเชื้อแบคทีเรีย ระดับโครโมโซม เช่น การทดสอบการเกิดไมโครนิวเคลียส และระดับดีเอ็นเอ จึงจะสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการประเมินความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมได้อย่างรอบด้าน

               นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการทดสอบด้านความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมในหลอดทดลองครบทั้ง 3 ระดับ ที่ผ่านการรับรองตามระบบคุณภาพ OECD GLP หรือ OECD Good Laboratory Practice คือ ระบบคุณภาพที่ช่วยจัดการห้องปฏิบัติการให้มีมาตรฐาน นิยมใช้ห้องปฏิบัติการที่เน้นทางด้านการทดสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ทดลองในมนุษย์ (Non-clinical health and environmental safety study) ตามหลักเกณฑ์ของภาคีเครือข่ายองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development ; OECD)  ดังนั้น สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินการทดสอบด้านความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมจึงได้พัฒนาการทดสอบดังกล่าว ให้สอดคล้องตามระบบคุณภาพ OECD GLP และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาได้รับการรับรองสาขาความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบการก่อกลายพันธุ์ (Mutagenicity studies) ตามหลักการ OECD GLP เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

 


“ภายใต้กรอบการรับรองดังกล่าว สถาบันวิจัยสมุนไพร พร้อมให้บริการทดสอบการก่อกลายพันธุ์อย่างครบวงจร ในเภสัชภัณฑ์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช วัตถุเจือปนอาหารคน วัตถุเจือปนอาหารสัตว์เครื่องสำอาง ยาสัตว์ สารเคมีอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งการได้รับการรับรองครั้งนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวแล้ว สามารถนำไปขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะช่วยให้ผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์ประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ โดยไม่ต้องตรวจซ้ำ สามารถจำหน่ายได้ในประเทศสมาชิก OECD ที่มีมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้การที่ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองในด้านดังกล่าว ยังช่วยเสริมสร้างและผลักดันให้ไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพใช้ในประเทศและส่งออกได้ในอนาคต รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยภายในประเทศให้มีศักยภาพสามารถส่งออกสินค้าแข่งขันในตลาดโลกและลดการขาดดุลทางค้ากับต่างประเทศ ทั้งนี้ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจสามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยสมุนไพร โทร. 0 2951 0000 ต่อ 99371” นายแพทย์ยงยศ กล่าว



   
   


View 276    24/10/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ