คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานนำข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก ยกระดับนโยบายและมาตรการควบคุมยาสูบของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรการระดับโลก หลังประเทศไทยเข้ารับการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) เกี่ยวกับการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก 

          นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ปลัดกระทรวงหรือผู้แทนปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสสส. เข้าร่วมประชุม 

          นายสันติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพและอนามัยของประชาชน ซึ่ง บุหรี่ ถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่มอมเมาประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน การรณรงค์ให้ ลด ละ เลิก การบริโภคและการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการร่วมกัน  ซึ่งในที่ประชุมมีการรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านติดตามประเมินฯ ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผลการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) เกี่ยวกับการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินไปเมื่อวันที่ 12-16 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยหัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ และคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก และภายหลังการประเมินได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ อาทิ การติดตามการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัดร่วมกับกระทรวงมหาดไทย การคงมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใหม่ เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นต้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำข้อเสนอแนะจากประเมินดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการยกระดับนโยบาย มาตรการ กฎหมายด้านการควบคุมยาสูบของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก พร้อมให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชาวไร่ยาสูบในอนาคต และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการขับเคลื่อนกลไกรองรับการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบกรณีที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพเพื่อนำไปสู่การมีรายได้ที่เหมาะสมต่อไป

          นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ บริเวณสถานที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบบริเวณเขตสูบบุหรี่ พ.ศ. .... และ 3.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ดังกล่าว เกิดประสิทธิภาพ ยกระดับนโยบายด้านสาธารณสุข และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยให้ห่างไกลจากพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าเสพติดทำลายสุขภาพ

 ***************************************** 22 กันยายน 2566

*** ที่มา กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค ***

 



   
   


View 1365    22/09/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ