สูตินรีแพทย์เตือนกินลูกปลาช่อนดิบเสี่ยงอันตราย ไม่ช่วยสมานแผลผ่าคลอด
- กรมการแพทย์
- 41 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย 13 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
การขับเคลื่อนงานการส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้เด็กไทยกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด ช่วยแก้ปัญหาแม่
ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเต็มที่
วานนี้ (18 กันยายน 2566) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนงานการส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับภาคีเครือข่าย ว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และกรมอนามัยร่วมกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีเป้าประสงค์ให้เด็กไทยได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ล้วนอย่างเดียวใน 6 เดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องร่วมกับอาหารตามวัยจนถึง 2 ปีหรือนานกว่า และเพื่อให้การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สำเร็จลุล่วงไปตามเป้าประสงค์ จึงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ โดยแต่ละภาคีจะดำเนินงานและกิจกรรมตามบทบาทและพันธกิจของตนเอง และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคีเครือข่าย โดยมีหน่วยงานที่ร่วมลงนามทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมกิจการเด็กและเยาวชน มูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
ด้านนายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นการวางรากฐานที่ดีให้กับลูก โดยเฉพาะช่วงเวลาสำคัญที่สุดของทุกคนคือ 1000 วันแรกของชีวิต ลูกควรได้รับนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด และควรกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก จากนั้นควรกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น แต่จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2565 พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 28 ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายระดับโลกในปี 2568 อย่างมาก ซึ่งเกิดจากการที่แม่ขาดความมั่นใจคิดว่าตนเองน้ำนมไม่เพียงพอ ประกอบกับต้องกลับไปทำงานหลังหมดวันลาคลอด หรือบางส่วนไม่ใช้วันลาคลอดเนื่องจากกลัวเสียรายได้ ส่งผลให้ลูกต้องกินนมผง หรืออาหารอื่นทดแทนแม่ ทั้งนี้ กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักในการอภิบาลระบบการส่งเสริมสุขภาพ เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการสร้างระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและเป็นมิตร เอื้อต่อการเตรียมความพร้อมและสร้างความรู้ความมั่นใจให้แม่และครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ โดยได้ตั้งเป้าหมายในปีพ.ศ. 2568 ให้เด็กแรกเกิดถึงอายุต่ำกว่า 6 เดือนกินนมแม่อย่างเดียว อย่างน้อยร้อยละ 50 และเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยร้อยละ 70 ในปี พ.ศ. 2573 เพราะเราเชื่อมั่นในคุณประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งในแง่ของสารอาหาร โดยเฉพาะการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฮอร์โมนซึ่งนมผงไม่สามารถสร้างได้และการสร้างสายสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ร่างกาย และจิตใจไปตลอดชีวิต
ด้านแพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การช่วยเหลือแม่และครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จต้องได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐและเอกชนตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการสานพลังช่วยเหลืออย่างครบวงจร เพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ และเด็กได้รับนมแม่อย่างเดียวถึงอายุ 6 เดือน และได้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น เมื่อถึงเวลาที่แม่ต้องไปทำงานก็จะมีสถานเลี้ยงดูทารกและเด็กเล็กอายุ 3 เดือนถึง 3 ปี ที่เน้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานรองรับ รวมถึงสนับสนุนให้สถานประกอบการมีมุมนมแม่ ความร่วมมือในการช่วยเหลือแม่จึงเป็นรากฐานสำคัญให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิถีแห่งแม่ เป็นค่านิยมของสังคม และเป็นวัฒนธรรมของชาติไทยที่เข้มแข็งในที่สุด
***
กรมอนามัย / 19 กันยายน 2566