รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 333 แห่ง ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลพ.ศ. 2541 เสนอให้ภาคเอกชนร่วมประเมินตรวจสอบก่อนต่อใบอนุญาตทุก 10 ปี หลังพบอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่กองการประกอบโรคศิลปะไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันกระจายอำนาจให้ประชาชนในชุมชน เช่น อสม. เยาวชน ในชุมชน เข้าร่วมตรวจสอบ ติดตามมาตรฐานด้วย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งควบคุมมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชนประเภทที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้พักรักษา ซึ่งทั่วประเทศมี 333 แห่ง ประมาณ 35,000 เตียง เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยได้รับความปลอดภัย รักษาหายขาดจากโรค ไม่เกิดอาการแทรกซ้อนหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ได้ตั้งคณะทำงานติดตามนโยบายด้านการส่งเสริมมาตรฐานโรงพยาบาลเอกชน 1 ชุด โดยมี นายสมพร สืบถวิลกุล เป็นประธาน จากการติดตามของคณะทำงานได้รับรายงานว่าขณะนี้ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลพ.ศ. 2541 เนื่องจากอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของกองการประกอบโรคศิลปะที่ออกตรวจสอบยังไม่เพียงพอ ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ 45 คน แต่รับผิดชอบโรงพยาบาลเอกชนถึง 333 แห่ง จึงส่งผลให้ไม่สามารถที่จะควบคุมกำกับมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ที่ควรจะเป็นทุก 6 เดือนหรือทุก 1 ปี ซึ่งทุก 10 ปี โรงพยาบาลเอกชนจะต้องต่อใบขออนุญาต และจะต้องมีการตรวจสอบประเมินมาตรฐาน 5 ด้าน ก่อนทุกครั้ง ทั้งในด้านอาคารสถานที่ บุคลากร ระบบบริการ เครื่องมือแพทย์และความปลอดภัย หากไม่ได้ตามมาตรฐานกำหนดก็จะไม่ได้รับใบอนุญาต นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ในการแก้ปัญหาดังกล่าวจึงมีนโยบายจ้างภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาทำการตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนแทนเจ้าหน้าที่กองการประกอบโรคศิลปะ โดยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้นๆรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ครั้งละประมาณ 50,000 บาท โดยชำระที่กระทรวงสาธารณสุขแล้วให้ภาคเอกชนมารับค่าจ้างที่กระทรวง ทั้งนี้ภาคเอกชนที่จะเป็นทีมตรวจสอบจะต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น วิธีการนี้จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีการพัฒนามาตรฐานทั้ง 5 ด้านอย่างต่อเนื่อง ได้มอบให้กองการประกอบโรคศิลปะและฝ่ายกฎหมายศึกษาพ.ร.บ.สถานพยาบาลพ.ศ. 2541ว่าสามารถออกเป็นกฎกระทรวงหรือต้องแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ นอกจากนี้จะเปิดโอกาสและกระจายอำนาจให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในชุมชนนั้นๆโดยให้กองการประกอบโรคศิลปะจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชน ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข เยาวชน เพื่อเป็นหูเป็นตาช่วยตรวจสอบติดตามมาตรฐานโรงพยาบาลเอกชนอีกทางหนึ่ง สำหรับในปีนี้ได้รับรายงานจากกองการประกอบโรคศิลปะว่ามีสถานพยาบาล 6 แห่ง ที่ไม่ได้เกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด อยู่ระหว่างดำเนินการเปรียบเทียบคดี เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ได้แก่ ไม่มีผู้ประกอบการวิชาชีพสาขาเภสัชกรรม สาขารังสีเทคนิค เปลี่ยนแปลงผู้ประกอบวิชาชีพโดยไม่แจ้งให้ผู้อนุญาตทราบ สถานพยาบาลไม่สามารถจัดบุคลากรปฏิบัติงานในโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ยังมีการรับผู้ป่วยไว้เกินกว่าที่ได้รับอนุญาต คือ 50 เตียง แต่รับผู้ป่วยไว้จริง 60 เตียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ................ 3 พฤศจิกายน 2551


   
   


View 11    03/11/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ