วันนี้ (11 กรกฎาคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน จึงทำให้การสัญจรบนท้องถนนเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เนื่องจากถนนลื่นและทัศนวิสัยทัศการขับขี่ไม่ดี จากสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม (ทางหลวง ทางหลวงชนบท และทางด่วน) พบว่า ช่วงหน้าฝน ในเดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม 3 ปีย้อนหลัง ในปี 2563-2565 (6 เดือน) พบว่ามีการ เกิดอุบัติเหตุ 23,077 ครั้ง บาดเจ็บ 10,544 ราย เสียชีวิต 2,764 ราย จึงขอให้ประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนในช่วงฝนตก เพิ่มความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ โดยการตรวจสอบสภาพรถและอุปกรณ์ให้พร้อมต่อการใช้งานในฤดูฝน เช่น ที่ปัดน้ำฝน ระบบไฟฟ้า ระบบยาง ระบบเบรก และไม่ควรขับรถเร็วขณะฝนตกหรือถนนเปียก โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตก 10 นาทีแรก เป็นช่วงที่รถมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดจากการลื่นไถล เพราะน้ำฝนจะชะล้างคราบน้ำมันและฝุ่นละอองที่ติดอยู่บนพื้นถนน ทำให้เกิดเป็นเสมือนแผ่นฟิล์มฉาบอยู่บนผิวถนน อาจส่งผลให้รถลื่นและเสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้

         นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้จึงขอแนะนำ ขณะขับขี่ควรปฏิบัติตาม 7 วิธีในการขับขี่ให้ปลอดภัยช่วงฝนตกและมีน้ำท่วมขังบนถนน ดังนี้

          1. เพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ โดยลดความเร็วลงกว่าระดับปกติ เนื่องจากพื้นถนนที่เปียก รถจะใช้ระยะเบรกเพิ่มขึ้น และควรใช้ความเร็วที่เหมาะสมไม่เกิน 30-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะช่วยให้สามารถควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            2. เปิดไฟหน้ารถเสมอ ใช้ไฟต่ำจะช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ บนถนนได้ชัดเจนขึ้น และให้รถคันอื่นมองเห็นรถของเราได้ในระยะไกล

          3. เปิดใบปัดน้ำฝน ปรับระดับความเร็วของใบปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรงของฝนที่ตกลงมาจะช่วยให้เรามองเห็นเส้นทางได้ตลอดเวลา

        4. เว้นระยะห่างจากท้ายรถคันหน้าให้มากกว่าปกติอย่างน้อย 10-15 เมตร เพื่อให้มีระยะเบรกที่เพียงพอและปลอดภัย

        5.หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็นควรประเมินสถานการณ์ให้ดีก่อนแซง

        6.ในกรณีที่รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ไม่ควรเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนทันที อาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ ควรใช้เกียร์ต่ำ และค่อยๆ เบรก เพื่อลดความเร็ว แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ

        7. เมื่อต้องขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขัง ขอให้หยุดประเมินสถานการณ์ หากระดับน้ำสูงกว่าขอบประตูรถ ไม่ควรขับฝ่าไป ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน

        หากประชาชนพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ อาจทำให้เกิดอันตรายแทรกซ้อนหรือเกิดความพิการของผู้บาดเจ็บได้ ขอให้โทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 สอบถามเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

 

***************************************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566

 

 



   
   


View 20974    11/07/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ