วันนี้ (10 กรกฎาคม 2566) ที่ โรงพยาบาลราชวิถี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เยี่ยมชมการขับเคลื่อนงานบริการของโรงพยาบาลราชวิถี ได้แก่ ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร ศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ โดยมี นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี คณะผู้บริหาร และบุคลากรโรงพยาบาลราชวิถี ให้การต้อนรับ

ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร ชั้น 16 อาคารทศมินทราธิราช : ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการส่องกล้องทางเดินอาหารโรงพยาบาลราชวิถี เป็นหน่วยงานหลักในสังกัดกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านการส่องกล้องขั้นสูงในระดับประเทศและชั้นนำในภูมิภาคอาเซี่ยน พร้อมด้วยประสบการณ์การรักษาเฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารที่มีความยากและซับซ้อนในการรักษา โดยประกอบไปด้วยทีมศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ทีมพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่มีความรู้และผ่านการอบรมและฝึกฝนมาอย่างดี ด้วยความเอาใจใส่มุ่งมั่นในการให้บริการและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากงานด้านบริการส่องกล้องที่เป็นเลิศแล้ว ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารโรงพยาบาลราชวิถียังเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ แหล่งฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางส่องกล้องทางเดินอาหาร มีการสอนความรู้และทักษะควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจรักษาและการพยาบาลอย่างมีมาตรฐาน กระจายความรู้ความเชี่ยวชาญไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้รับบริการทางการแพทย์ฉพาะทางอย่างเท่าเทียม ลดภาระการเดินทาง พัฒนาระบบบริการให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความสะดวกสบายอย่างไร้รอยต่อตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางบริการและวิชาการแพทย์ขั้นสูงเพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายที่ยั่งยืน

ศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ชั้น 4 อาคารทศมินทราธิราช : “ศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์โรงพยาบาลราชวิถี” นับเป็นหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเครื่องแรกและทันสมัยที่สุดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เริ่มปฏิบัติการให้การรักษาผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาที่ซับซ้อน โดยการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรุ่นใหม่มาติดตั้งที่มีเทคโนโลยีภาพ 3 มิติ และแขนกลที่เคลื่อนไหวได้ 7 ทิศทาง คล้ายการเคลื่อนไหวของมือมนุษย์ โดยตัวหุ่นยนต์อยู่ข้างคนไข้ ทำการผ่าตัดเลียนแบบการเคลื่อนไหวของมือศัลยแพทย์ที่ควบคุมสั่งการอยู่ที่เครื่องควบคุม ทำให้มีความแม่นยำในการผ่าตัด โดยเฉพาะตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้ มีความปลอดภัยในการรักษามากขึ้น ระยะเวลาในการฟื้นตัวเร็วขึ้น และพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง

ศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์สามารถรองรับการผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็ง และโรคที่ต้องอาศัยการผ่าตัดที่ซับซ้อนในหลายระบบได้ เช่น โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก, โรคระบบโสต ศอ นาสิก ได้แก่ โรคของต่อมทอลซิล และมะเร็งที่โคนลิ้น, โรคในระบบศัลยศาสตร์ ได้แก่ โรคมะเร็งตับ และลำไส้ใหญ่, โรคในระบบนรีเวช ได้แก่ เนื้องอกมดลูก และโรคในระบบหัวใจและทรวงอก เป็นต้น

 

**************************************

- ขอขอบคุณ -
10 กรกฎาคม 2566



   


View 382    10/07/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ