กรมควบคุมโรคจัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าฯ โดยเป็นความร่วมมือกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งจะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ หรือเป็นสัญญาณเริ่มต้น ที่จะประกาศความร่วมมือกันดำเนินงานเพื่อให้จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าแห่งแรกของประเทศไทย เป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี วันที่ 4 กรกฎาคม

         วานนี้ (7 กรกฎาคม 2566) ณ ห้องประชุมพาโก้แกรนด์บอลรูม โรงแรม The Pago Design Hotel อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสัตวแพทย์ณรงค์ ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรค ภายใต้หัวข้อ “ภูเก็ตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า แห่งแรกของประเทศไทย เราทำได้” เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะแสดงถึงความยั่งยืนของการปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัด

           นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าน้อยกว่า 5 รายต่อปี โดยในปี 2566 ณ วันที่ 4 กรกฎาคม พบจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 3 ราย ที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และสุรินทร์ สำหรับจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ไม่พบคนและสัตว์พบโรคพิษสุนัขบ้ามานานกว่า 4 ปีในทุกอำเภอ และมีการดำเนินงานเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งในคนและสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีคุณสมบัติในการประเมินเพื่อรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในระดับจังหวัด ซึ่งหากประสบผลสำเร็จจะกลายเป็นจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้าแห่งแรกของประเทศ อันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกด้วย   

            นายสัตวแพทย์ณรงค์ ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปี 2566 กรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์เขต 8 และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต ได้มีการขอความร่วมมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการประเมินตนเองตามหลักเกณฑ์การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งได้ผลที่น่าพึงพอใจ โดยในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าแล้วจำนวน 36 ท้องถิ่น และ 3 อำเภอ ซึ่งในปี พ.ศ.2566 นี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะร่วมกันผลักดันการประเมินและรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตามผล และคาดหวังว่าในปี พ.ศ.2566 นี้ พื้นที่ที่เคยได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าจะสามารถประเมินรักษาสถานภาพการปลอดโรคต่อไปได้ และประเทศไทยจะมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองปลอดโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 12 อำเภอ ตามเป้าหมายในการผลักดันให้มีพื้นที่ผ่านการรับรองปลอดโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 อำเภอต่อ 1 พื้นที่ สคร. โดยทางกรมปศุสัตว์ก็จะรวบรวมผลและแจ้งผลความสำเร็จของปีนี้ให้ทราบในภายหลัง ต่อไป

             นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศที่งดงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และยังมีเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างน้อย 9 ล้านคนต่อปี ถือได้ว่าเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ดังนั้นหากจังหวัดภูเก็ตประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย ไร้กังวล เข้าถึงการรักษา และยังเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง อันจะเป็นการส่งเสริมความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้างมาท่องเที่ยวในจังหวัด ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ต มีความพร้อมในการดำเนินงานเพื่อการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเบื้องต้นได้มีการประเมินตนเองถึงความพร้อมของการเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าให้มีความยั่งยืน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าให้ได้ก่อนปี 2567

             ภายในงานประกอบไปด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการ สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะเป็นโมเดลไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ การเสวนาเรื่อง “ภูเก็ตปลอดโรคพิษสุนัขบ้าสู่อนาคตการท่องเที่ยว” และการร่วมกล่าวคำปฏิญาณแสดงเจตจำนงค์ในการดำเนินงานเพื่อให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้าโดยผู้บริหารหน่วยงานจังหวัดโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต/คณะนายอำเภอ/ ท้องถิ่นจังหวัด/ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด/คณะนายกเทศมนตรี /คณะนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และคณะของผู้บริหารของหน่วยราชการที่มาร่วมงานทุกหน่วย และจะมีการจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานของท้องถิ่นที่มีการดำเนินงานเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าดีเด่น รวมถึงนิทรรศการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 

********************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 

 

 



   
   


View 278    08/07/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ