กรมการแพทย์แผนไทยฯ เดินหน้าควบคุมร้านกัญชาตามกฎหมาย พร้อมเผยกรณี “ชูวิทย์” ส่งจดหมายขออภัย
- สำนักสารนิเทศ
- 35 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรคร่วมคณะผู้แทนไทยแถลงจุดยืน 10 จาก 63 วาระของประเทศไทยในเวทีสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 76 โดย ประเทศไทยแสดงความมุ่งมั่นกวาดล้างโปลิโอ เน้นความครอบคลุมของวัคซีน พร้อมแสดงจุดยืนสนับสนุนการทำลายเชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษ หวั่นรั่วไหลสู่สาธารณะ และร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการประชุมคู่ขนาน “แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว”
วันที่ 21 - 30 พฤษภาคม 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดี นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์สุรเชษฐ์ อรุโณทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมคณะผู้แทนไทย เข้าประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 76 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยผู้แทนกรมควบคุมโรคได้กล่าวแสดงท่าทีของประเทศไทยในวาระที่สำคัญต่างๆ รวม 10 จาก 63 วาระ อาทิ การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ การพัฒนายุทธศาสตร์โลกด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ การป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การดำเนินงานเพื่อยุติโรคโปลิโอ การทำลายเชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษที่เก็บไว้ และความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบการเตรียมการและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข การปรับปรุงแก้ไขกฎอนามัยระหว่างประเทศ และร่างสนธิสัญญาสำหรับจัดการการระบาดใหญ่
นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคให้มีความพร้อม สร้างความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน การลงทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพกำลังคนทางด้านสาธารณสุข และโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขกฎอนามัยระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของโลกและสถานการณ์โรคในปัจจุบัน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคแสดงจุดยืนของไทยในการทำลายเชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษ เนื่องจากโรคฝีดาษถูกกวาดล้างหมดแล้ว จึงต้องป้องกันความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของเชื้อ พร้อมเน้นย้ำถึงเจตจำนงของไทยในการดำเนินงานกวาดล้างโปลิโอ โดยมุ่งเน้นการให้วัคซีนป้องกันที่ทั่วถึงและครอบคลุมในกลุ่มประชากรเป้าหมาย
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า ผู้แทนกรมควบคุมโรคยังได้เข้าร่วมการประชุมคู่ขนานและแบ่งปันประสบการณ์ในวาระสุขภาพโลกที่สำคัญ เช่น การดำเนินงานด้านโรคไม่ติดต่อ การแก้ปัญหาวัณโรค ประสบการณ์การใช้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกที่ให้ความสำคัญและผลักดันการสร้างความร่วมมือในการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้งสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม จนได้ผลอย่างดี และไทยเป็นประเทศแรกที่รับการประเมินการพัฒนาสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ซึ่งผลการประเมินสะท้อนถึงการยกระดับงานด้านสาธารณสุขและความมั่นคงทางสุขภาพที่ก้าวหน้ามากขึ้นในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
*********************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ/สคร.1/ สคร.11 สำนักสื่อสารความเสี่ยง ฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 7 มิถุนายน 2566