กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เก็บตัวอย่างเลือดตรวจพิสูจน์โรคชิคุนกุนยา ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยใน 3 อำเภอ กว่า 100 ราย จะทราบผลเย็นนี้ ชี้เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคเหมือนไข้เลือดออก แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า เพราะไม่ทำให้เกิดอาการช็อค นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงข่าวการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยา ที่จังหวัดนราธิวาส โดยพบผู้ป่วยกว่า 60 ราย ว่า ได้รับรายงานจากสำนักระบาดวิทยา ว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกับโรคชิคุนกุนยา คือ มีไข้ มีผื่นแดงตามร่างกาย และปวดข้อ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้ส่งทีมสอบสวนโรคจากสำนักระบาดวิทยา ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต 12 และทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วของจังหวัดนราธิวาส ประมาณ 15 คน ลงไปสอบสวนโรคที่ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาสทันที เพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย กล่าวต่อว่า จากการสำรวจสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย พบว่ามียุงในพื้นที่มากพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงที่คนออกไปทำงานในสวน และจากการซักประวัติการเจ็บป่วย ทุกรายมีอาการสำคัญเหมือนกันคือ เป็นไข้ และปวดตามข้อ ทีมเจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้แก่ประชาชน ในการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันไม่ให้ยุงกัด พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยประมาณ 40 ราย ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจะทราบผลในเย็นวันนี้ (10 ตุลาคม 2551) ว่าเป็นโรคชิคุนกุนยาหรือไม่ โดยสถานการณ์ล่าสุดขณะนี้ ได้รับรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 109 ราย แยกเป็น หมู่ 8 ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ 83 ราย หมู่ 7 ตำบลคอเลาะ อำเภอแว้ง 18 ราย และอำเภอเจาะไอร้อง 8 ราย โดยในวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2551 นี้ จะลงไปติดตามสถานการณ์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งโรค ชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เหมือนกับโรคไข้เลือดออก แต่ความรุนแรงน้อยกว่า เนื่องจากเชื้อไม่ทำให้มีการรั่วของน้ำในเส้นเลือด จึงไม่ทำให้เกิดอาการช็อค โดยโรคนี้ระยะฟักตัวสั้นกว่าไข้เลือดออก คือประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงตามร่างกาย ส่วนใหญ่ในเด็กจะอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ แต่ต้องระวังเรื่องการชักจากไข้สูง ส่วนในผู้ใหญ่จะพบมีอาการปวดข้อ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า และเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ บางรายอาจปวดข้ออยู่นานเป็นเดือน ผู้ป่วยจึงมักเข้าใจว่าตนเองเป็นโรคไขข้อ นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวสั้น ประกอบกับการเดินทางที่สะดวก ทำให้โรคมีโอกาสแพร่ระบาดได้รวดเร็ว จึงต้องมีการเฝ้าระวังโรคทั้งจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยการกำจัดลูกน้ำยุงลาย พ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวแก่ ทั้งในบ้าน รอบบ้านและในสวน และส่งทีมลงสอบสวนโรคทันทีที่พบผู้ป่วย *************************************** 10 ตุลาคม 2551


   
   


View 14    10/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ