กรมอนามัยชูโครงการฟันเทียมพระราชทานและโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ช่วยฟื้นคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ กลับมาบดเคี้ยวอาหารได้ละเอียด เพิ่มความมั่นใจในการเข้าสังคม และลดปัญหาโรคแทรกซ้อนอันเกิดจากปัญหาสุขภาพช่องปาก

      นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากยังเป็นปัญหาที่พบได้สูงในประชากรทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะวัยทำงานตอนปลายและผู้สูงอายุ ยิ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ปัญหาช่องปากก็เพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่การสูญเสียฟัน ซึ่งข้อมูลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพระดับประเทศทุก 5 ปี ของกรมอนามัย พบว่า ในปี 2560 ผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีฟันแท้เฉลี่ย 18 ซี่ต่อคน และเมื่ออายุ 80-85 ปีลดลงเหลือเพียง 10 ซี่ต่อคน และยังพบผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากถึงร้อยละ 8.7 ซึ่งการสูญเสียฟัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย คุณภาพชีวิต และการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังอาจจะส่งผลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในช่องปาก เช่น โรคเบาหวาน มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ หากผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี จะส่งผลให้ปัญหาในช่องปากทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจนสูญเสียฟัน รวมถึงรอยโรคในช่องปาก อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็มักจะสูงตามไปด้วย อีกทั้งรอยโรคในช่องปากในบางรายก็อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

             นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากการเกิดโรคแล้ว ปัญหาสุขภาพช่องปากยังส่งผลต่อในเรื่องการใช้งาน เช่น การกินอาหาร การพูด การทำความสะอาดฟัน หรือเรื่องอารมณ์ เช่น การยิ้มให้ผู้อื่น เมื่อสูญเสียฟันก็จะเกิดความไม่มั่นใจหรือไม่กล้าออกไปพบปะสังสรรค์กับผู้คน และบางรายยังมีผลในเรื่องของการนอนหลับที่มีคุณภาพอีกด้วย และยังส่งผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับบริการ ค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากสิทธิ์รักษาพยาบาล ซึ่งบางรายอาจจะต้องลางานจนเกิดการการสูญเสียรายได้ จากสภาพปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย และภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ 2 โครงการ คือ 1) โครงการฟันเทียมพระราชทาน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการใส่ฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันที่ถูกถอนออกไป ทำให้ผู้สูงอายุกลับมาใช้ฟันในการบดเคี้ยว ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ผู้สูงอายุมีฟันแท้ใช้งานตลอดช่วงชีวิตให้ได้มากที่สุด และ 2) โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เป็นการต่อยอดโครงการฟันเทียมพระราชทาน เนื่องจากพบว่าผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่ใช้งานฟันเทียมไปได้ระยะหนึ่งแล้วเกิดการละลายตัวของกระดูกขากรรไกร ทำให้ฟันเทียมที่ใช้อยู่ไม่กระชับ จึงต้องใช้การฝังรากเทียมเข้าไปยังกระดูกขากรรไกรเพื่อช่วยทำให้มีตัวยึดกับฟันเทียมให้กลับมากระชับและใช้ในการบดเคี้ยวอาหารได้ดีเหมือนเดิม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ สามารถกินอาหารได้ดีขึ้น มีพลังในการยิ้ม การเข้าสังคม การพูดจาชัดเจนดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

           “ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ดำเนินการขับเคลื่อนทั้ง 2 โครงการ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในการคัดกรองสุขภาพช่องปาก และพัฒนาเครื่องมือ Blue Book Application ให้เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน Smart อสม. ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ให้บริการด่านหน้า ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือบุคลากรของหน่วยบริการปฐมภูมิ สามารถคัดกรองสุขภาพช่องปากควบคู่ไปกับสุขภาพด้านอื่นๆ อีก 9 ด้าน ซึ่งในขณะเดียวกัน ยังเน้นการยกระดับความรู้ทักษะและความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้แก่ ทันตบุคลากร บุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลผู้สูงอายุ เช่น Care Manager, Care Giver รวมถึง อสม. เชี่ยวชาญในพื้นที่ ผ่านช่องทางต่างๆ  ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ในการดำเนินการให้การใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียมมีคุณภาพ โดยร่วมมือกับมูลนิธิทันตนวัตกรรมในการผลิตตัวรากฟันเทียมขึ้นภายในประเทศไทยและนำมาใช้ในโครงการนี้ นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตัวเอง และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพช่องปากกับทันตบุคลากร หากพบปัญหาควรรีบรับการรักษา ไม่ปล่อยให้ลุกลามจนนำไปสู่การถอนฟัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย / 28 เมษายน 2566

 



   
   


View 428    28/04/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ